เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ สาธารณรัฐเกาหลี
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

 

ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเกาหลี

              

               มีความปรารถนาที่จะทำความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

               ได้ตกลงดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1
ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.            ภาษีซึ่งเป็นประเด็นของอนุสัญญานี้ คือ

               (ก)          ในกรณีประเทศเกาหลี ภาษีเงินได้และภาษีบรรษัท

                              (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีเกาหลี")

               (ข)          ในกรณีประเทศไทย ภาษีเงินได้ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

                              (ต่อไปนี้จะเรียกว่า"ภาษีไทย")

2.            อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับได้ต่อภาษีอื่น ไม่ว่าจะตั้งบังคับโดยรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกันกับภาษีตามวรรค (1) ของข้อนี้ซึ่งในเวลาต่อไปจะได้บังคับเพิ่มเติมจากหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน หลังจากวันลงนามในอนุสัญญานี้

ข้อ 2
บทนิยามทั่วไป

1.             ในอนุสัญญานี้ เว้นไว้แต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

              (ก)          คำว่า "ประเทศเกาหลี" หมายถึงสาธารณรัฐเกาหลี

              (ข)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึงราชอาณาจักรไทย

              (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศเกาหลีหรือ

                            ประเทศไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

              (ง)          คำว่า "บุคคล"กอปรด้วยเอกชน บรรษัท และเอกชนอื่นใด หรือบุคคลอื่นๆ

              (จ)          คำว่า "บรรษัท" หมายถึงหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อความมุ่งประสงค์ของภาษีตาม

                            กฎหมายที่เกี่ยวข้องของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดรวมทั้งกลุ่ม หรือคณะบุคคลใดๆ ที่ถูกเก็บภาษี

                            ในสาระสำคัญทำนองเดียวกันกับนิติบุคคล

              (ฉ)          คำว่า "ภาษี"หมายถึง ภาษีเกาหลี หรือภาษีไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

              (ช)          คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายความถึง

                            (1)          ในประเทศเกาหลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

                            (2)          ในประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

              (ซ)          คำว่า "รัฐ" หมายความถึง รัฐแห่งชาติใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือไม่

2.             ในการใช้บังคับอนุสัญญานี้ โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้อย่างชัดแจ้งให้มีความหมายซึ่งคำนั้นๆ มีอยู่ตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นเกี่ยวกับภาษี ซึ่งเป็นประเด็นของอนุสัญญานี้เว้นแต่จะบริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

ข้อ 3
ภูมิลำเนาเพื่อการรัษฎากร

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้

                (ก)          คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึงเอกชนซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งภาษีของรัฐผู้ทำสัญญานั้น

                (ข)          คำว่า "บรรษัทของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึงบรรษัทซึ่งจดทะเบียนหรือตั้งขึ้นตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น หรือมีสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานหลักอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น

2.             โดยเหตุผลแห่งบทของวรรค 1 (ก) ของข้อนี้ เอกชนใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้วินิจฉัยกรณีตามกฎดังต่อไปนี้

                (ก)          ให้ถือว่า เอกชนผู้มีที่อยู่ภายในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใด เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้น ถ้าเอกชนมีที่อยู่

                              ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดที่สุด (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

                (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญของเอกชนได้ก็ดี หรือถ้าไม่มีที่อยู่ถาวรของเอกชนอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐก็ดี ให้ถือว่าเอกชนนั้น เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติ

                (ค)          ถ้าเอกชนมีที่อยู่เป็นปกติในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐหรือไม่มีอยู่เลยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ

                (ง)          ถ้าเอกชนเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

ข้อ 4
กฏเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการเก็บภาษี

 

1.             เผู้มีถิ่นที่อยู่ในหรือบรรษัท ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง อาจถูกเก็บภาษีโดยรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เฉพาะจากเงินได้ที่มาจากแหล่งภายในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น

 

2.             ผู้มีถิ่นที่อยู่ใน หรือบรรษัทของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง อาจถูกเก็บภาษีโดยรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง สำหรับเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามวรรค 1 เพียงเฉพาะตามข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในอนุสัญญานี้ เงินได้ใดๆ ซึ่งบทแห่งอนุสัญญานี้มิได้คลุมถึงโดยชัดแจ้งนี้ให้รัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐเก็บภาษีได้ตามกฎหมายแห่งรัฐนั้นๆ บทแห่งอนุสัญญานี้จะไม่ถือเป็นการจำกัดไม่ว่าในกรณีใดๆ เกี่ยวกับการเว้นการยกเว้น การหักค่าใช้จ่าย การให้เครดิต หรือการให้ลดหย่อนอื่นๆ ซึ่งได้รับในขณะนี้ หรือหลังจากนี้

 

              (ก)          ตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือ

 

              (ข)          โดยข้อตกลงอื่นใดระหว่างรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐในการกำหนดจำนวนภาษี ที่บังคับ

                            เก็บโดยรัฐนั้น

 

3.             กฎหมายที่ใช้บังคับในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใด ยังคงใช้บังคับในการเก็บภาษีจากเงินได้ในรัฐผู้ทำสัญญานั้นๆ นอกจากจะมีบทใดในอนุสัญญานี้ กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

 

ข้อ 5
การขจัดการเก็บภาษีซ้อน

 

1.             ประเทศเกาหลียอมให้ผู้มีถิ่นที่อยู่ในหรือบรรษัทของประเทศเกาหลี นำเอาจำนวนภาษีตามส่วนที่ชำระให้แก่ประเทศไทยเป็นเครดิตหักจากภาษีของเกาหลีตามบทของกฎหมายของเกาหลีเกี่ยวกับเครดิตภาษีต่างประเทศ

 

2.             จำนวนภาษีเกาหลีที่ต้องชำระตามกฎหมายของประเทศเกาหลีและตามบทของอนุสัญญานี้ไม่ว่าจะชำระโดยตรงหรือโดยการหัก ซึ่งผู้มีถิ่นที่อยู่ในหรือบรรษัทของประเทศไทย ต้องชำระในส่วนของรายได้จากแหล่งภายในประเทศเกาหลีซึ่งถูกตั้งบังคับจัดเก็บภาษีทั้งในประเทศเกาหลีและป ระเทศไทยยอมให้ถือเป็นเครดิตหักจากภาษีไทยที่ต้องชำระเกี่ยวกับรายได้ส่วนนั้น แต่จะต้องไม่เกินส่วนของภาษีไทยตามอัตราระหว่างเงินได้ส่วนนั้นกับเงินได้ทั้งสิ้นที่ต้องเสียภาษีไทย ในการคำนวณเงินได้ทั้งสิ้นนั้น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในประเทศใดๆ ไม่ให้นำมาพิจารณา

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 29-11-2020