เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7395/2544 
กรมสรรพากรโจทก์

นายจิ้นเว้ง แซ่เบ้กับพวก

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (8)

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่ม 55,372,279.19 บาท และเงินเพิ่มภาษีอากรในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินจำนวน 32,764,662.30 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาต้องวินิจฉัย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้จากการขายที่ดินตามฟ้องต้องคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร และจำนวนปีที่ถือครองที่ดินต้องนับตั้งแต่ปีที่ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนรับโอนมาจากนายอารอบ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2537 โดยประเภทของการจดทะเบียนระบุว่าเป็นการขายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 แล้วจดทะเบียนโอนขายให้แก่บริษัท ควีนปาร์คคาซ่า จำกัด ในวันเดียวกันนั้นเอง ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่กองมรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกันระหว่างทายาทได้มาหลังการตายของเจ้าของมรดก เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกขายที่ดินที่กองมรดกได้มาดังกล่าวไป เงินได้จากการขายที่ดินจึงมิใช่เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกตามที่ระบุในมาตรา 48(4)(ก) แห่ประมวลรัษฎากรซึ่งต้องเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้มีเงินได้อันเป็นมรดกหรือได้รับจากการให้โดยเสน่หา แต่เป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่กองมรดกได้มาโดยทางอื่นตามมาตรา 48(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนจำนวนปีที่ถือครองนั้น ตามมาตรา 48(4) วรรคท้าย ระบุว่าหมายถึงจำนวนปีนับตั้งแต่ปีที่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ถึงปีที่โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งสามแปลงดังกล่าวมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 จึงต้องนับจำนวนปีที่ถือครองตั้งแต่ ปี 2539 หาใช่นับตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งเป็นปีที่ผู้ตายถึงแก่ความตายไม่ การที่เจ้าพนักงานที่ดินคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้จากการขายที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวตามมาตรา 50(5)(ข) ประกอบมาตรา 48(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากรและนับจำนวนปีที่ถือครองเพียง 1 ปี จึง ถูกต้องแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 14478 และ 14479 นั้น เป็นที่ดินที่ผู้ตายซึ่งเป็นเจ้าของมรดกมีอยู่ก่อนตาย เงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกซึ่งต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(5)(ก) ประกอบมาตรา 48(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานที่ดินหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยนำเงินได้จากการขายที่ดินมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48(4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และคิดจำนวนปีที่ถือครองนับตั้งแต่ปีที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นการคำนวณตรงตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับภาษีในส่วนนี้จึงไม่มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021