เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2230/2544 
กรมสรรพากรโจทก์

นายนพพล หรือเล็ก มณีคุ้ม

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 12, 30

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์ และเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่า โจทก์ยังมีสิทธิบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวหรือไม่ ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นโต้เถียงโดยตรง แต่ในการพิจารณาคดีล้มละลายนั้น ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้บุคคลใดล้มละลายย่อมมีผลกระทบถึงความสามารถ สถานะและทรัพย์สินของบุคคลนั้นทั้งในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง กรณีจึงถือว่าพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวได้ ในมูลหนี้ภาษีตามฟ้อง ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้าให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน ถือว่าเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรโดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 และมาตรา 30 ในการบังคับชำระหนี้ โจทก์ต้องดำเนินการภายใน 10 ปี นับแต่วันที่เกิดสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินซึ่งลงวันที่ 30 มิถุนายน 2530 ในวันใด แต่ว่าที่ร้อยตรีโสภณ ศรีธนชัย พยานโจทก์ เบิกความว่า หลังจากเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินภาษีการค้า ให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2530 จำเลยติดต่อขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว จึงแสดงว่าจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินก่อนหรือภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน โจทก์สามารถเริ่มต้น ดำเนินการ ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้เมื่อล่วงเลยระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันดังกล่าว การที่โจทก์นำหนี้ภาษีอากรค้างมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 นั้น เป็นการล่วงเลยระยะเวลาที่โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้แล้ว
ส่วนการที่จำเลยได้ขอผ่อนชำระหนี้และชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนภายในกำหนดเวลาที่โจทก์ยังมีสิทธิบังคับชำระหนี้นั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับชำระหนี้และวิธีการในการชำระหนี้เท่านั้น มิได้มีผลทำให้ระยะเวลาในการ บังคับชำระหนี้ของโจทก์ขยายออกไปแต่อย่างใด เมื่อหนี้ภาษีอากรค้างที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น โจทก์หมดสิทธิในการบังคับชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น ที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021