เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1001/2544 
กรมสรรพากร โจทก์

บริษัท โอเรียนเตลอิมเพ็กซ์ จำกัด

จำเลย
เรื่อง ภาษีการค้า
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 22 67 ทวิ (1) 67 ตรี71ประมวลกฎหมายวิธี

พิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากร

พิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 2

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ภาษีอากรจำนวน 5,375,834.08 บาท และชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน จากต้นเงินภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และ 2539 จำนวน 3,041,880.70 บาท และ 163,753 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ค้างชำระ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยโดยนายวัลลภ ไชยเสนา ในฐานะผู้ชำระบัญชีชำระเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราร้อยละ 5 จากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 จำนวนเงิน 60,837,605.45 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวน โดยเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลา 150 วันที่นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 ของจำเลย แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า " ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิจะเรียกเก็บภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากยอดรายได้จากบัตรชดเชยภาษีจำนวน 3,275,059.95 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 หรือไม่ เห็นว่าชื่อผู้ประกอบการค้าที่เป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่ปรากฏอยู่ตอนบนของรายการเป็นของจำเลยและมีรายละเอียดเลขบัตรชดเชยภาษีพร้อมยอดเงินตามบัตรชดเชยภาษี จึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินตามมูลค่าบัตรภาษีตามเอกสารดังกล่าวจำนวน 3,275,059.95 บาท มาคำนวณเสียภาษี แต่จำเลยไม่มาพบและไม่นำส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีเมื่อได้รับหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษี จำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับดังกล่าวก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 71(1) จำนวน 163,753 บาท และต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องเสียจำนวนดังกล่าว นับแต่วันพ้นกำหนดและยื่นรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มดังกล่าวมิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียจำนวนดังกล่าวตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากรและเมื่อปรากฏว่าจำเลยแจ้งเลิกกิจการเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 ประกอบกับในรอบระยะเวลาบัญชีนี้จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 จึงแสดงได้วาในรอบระยะเวลาบัญชีนี้ จำเลยประกอบกิจการเต็มทั้งรอบระยะเวลาบัญชี จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการประมาณการกำไรสุทธิและชำระภาษีกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาหกเดือน เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ยื่นแบบดังกล่าวตามมาตรา 67 ทวิ (1) จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรคิดเป็นเงินเพิ่มจำนวน 16,375.30 บาท ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินแต่สำหรับกรณีเบี้ยปรับซึ่งเจ้าพนักงานประเมินประเมินให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 163,753 บาท นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษให้ผุ้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้จำเลยชำระเบี้ยปรบจึงเป็นการซ้ำซ้อน การประเมินเบี้ยปรับในกรณีนี้จึงไม่ชอบ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหานี้เป็นปัญหาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎฆมายหรือไม่ อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีชื่อในบัตรอย่างแท้จริงและโจทก์ไม่มีเอกสารอื่นใดจากกรมศุลกากรแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัตรจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีรายได้จากบัตรชดเชยภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 จำนวน 3,279,059,95 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์มีนางสาวนิศาชล สังข์แสตมป์ เจ้าหน้าที่เก็บเอกสารและแบบฟอร์มต่าง ของกรมสรรพากรและเอกสารที่ได้รับจากกรมศุลกากรซึ่งกรมศุลกากรจัดส่งข้อมูลให้โจทก์ 2 ประเภท คือประเภทไมโครฟิล์มและประเภทการออนไลน์ เป็นข้อมูลออนไลน์ซึ่งตนรับผิดชอบจัดทำเอกสารขึ้นมาและรับรองเอกสารดังกล่าว เมื่อเอกสาร ดังกล่าวมีรายละเอียดชื่อผู้ประกอบการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่บัตรชดเชยภาษี จำนวนเงินภาษีจำนวนตามฟ้อง และจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้าน จึงต้องฟังว่าจำเลยมีรายได้จากบัตร ชดเชยภาษีตามเอกสารดังกล่าว ส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่นำสืบตามฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการเต็มรอบระยะเวลาบัญชีหรือไม่ จำเลยมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2539 เท่าใด ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อใดนั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบแล้วว่าจำเลยได้แจ้งเลิกประกอบกิจการเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 ยื่นแบบ ภ.พ. 09 วันที่ 26 กันยายน 2540 และทั้งยังได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีนี้ โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 14,000 บาท จึงแสดงโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยประกอบการในรอบระยะเวลาบัญชีนี้เต็มทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียก จำเลยไม่มาพบและไม่นำส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร จากยอดรายรับ เมื่อโจทก์ประกอบกิจการเต็มทั้งรอบระยะเวลาบัญชี จำเลยมีหน้าที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีสำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนนั้น ประมวลรัษฎากรมาตรา 67 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการไว้ชัดแจ้งแล้ว โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบถึงระยะเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นสุดท้ายมีย่า ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยโดยนายวัลลภ ไชยเสนา ในฐานะผู้ชำระบัญชี ชำระเงินค่าภาษีเงินได้ นิติบุคคลอัตราร้อยละ 5 จากยอดกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายปด ๆ ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงขอให้ศาลฎีกาแก้ไขข้อความในคำพิพากษาจากร้อยละ 5 จากยอดกำไรสุทธิเป็นร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ นั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางมีข้อความเป็นไปตามที่โจทก์อุทธรณือยู่แล้ว จึงไม่ จำต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 เป็นค่าภาษีจำนวน 163,753 บาท เงินเพิ่มตามมาตรา 27 อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวนดังกล่าวนับแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีจำนวนดังกล่าว และเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี จำนวน 16,375.30 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021