เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7939/2542 
กรมสรรพากร โจทก์

บริษัทโฟร์โก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยนายนำพล ทองศรี

จำเลย
ในฐานะผู้ชำระบัญชี
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีพิจารณาความแพ่ง หน้าที่นำสืบ (มาตรา 84) ป.รัษฎากรฯ (มาตรา 12, 27, 30,

71 (1) )

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 89,547,903 บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยรับผิดในเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวน 53,288,899.20 บาท นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินค่าภาษีค้าง
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้แยกข้อหาของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 โดยให้โจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่และเมื่อแยกข้อหาของโจทก์ดังกล่าวแล้ว โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 18,043,685.51บาท แก่โจทก์และให้จำเลยรับผิดในเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีจำนวน 11,716,678.90 บาท นับแต่วันที่ 31พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินค่าภาษีค้าง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยโดยนายนำพล ทองศรีในฐานะผู้ชำระบัญชี ชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 11,120,207.35 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวนดังกล่าวโดยเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยห้าสิบวันที่นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ของจำเลย แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัย "พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีแก่จำเลยแล้วจำเลยไม่ได้โต้แย้ง และมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จะถือว่าหนี้ภาษีดังกล่าวเป็นหนี้แน่นอน ไม่อาจเปลี่ยนแปลงการประเมินได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานได้ทำการประเมินว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 จำเลยมียอดรายรับจากมูลค่าสินค้าส่งออกเป็นเงิน 203,749,318.83 บาท กับเงินชดเชยในรูปบัตรภาษีเป็นเงิน 18,642,143.13บาท และมูลค่าการส่งออกอีก 11,942,116.04 บาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 234,333,578 บาท แต่จำเลยไม่นำบัญชีและเอกสารไปให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบไต่สวน เจ้าพนักงานประเมินจึงใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) ประเมินให้จำเลยเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับดังกล่าวเป็นเงิน 11,716,678.90บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนตามมาตรา 27 จำเลยมิได้โต้แย้งการประเมินและมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 30 ซึ่งมีผลทำให้จำเลยไม่อาจนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์และทำให้หนี้ภาษีอากรที่ถูกประเมินดังกล่าวเป็นภาษีอากรค้างอันจะถูกโจทก์บังคับชำระได้ตามมาตรา 12 เท่านั้น แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ดังกล่าวโจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ด้วยการนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้รับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีรายรับเป็นเงินจำนวน 234,333,578 บาท ตามการประเมิน แต่รับฟังได้เพียงว่าจำเลยมีรายรับเป็นเงินจำนวน 234,333,578 บาท ตามการประเมิน แต่รับฟังได้เพียงว่าจำเลยมีรายรับเพียง 222,404,146.96 บาท ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจปรับปรุงยอดรายรับและแก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
(เรืองฤทธิ์ ศรีวรรธนะ - ปราโมทย์ บุนนาค - ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021