เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่4418/2541 
กรมศุลกากร กับพวกโจทก์

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างรัตนไชย (ไทยแลนด์) จำกัด

จำเลย
เรื่อง ชำระค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขอเข้า
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ (มาตรา 19 ทวิ ,19 ตรี,40,112 ตรี) พ.ร.บ.ระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร (มาตรา 112)พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป. รัษฎากรฯ (มาตรา 5)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขอเข้าทั้ง 16 ฉบับ รวมเงินเพิ่มทุกประเภทภาษีจำนวน 9,979,857.91 บาท และเงินเพิ่มสำหรับอากรขาเข้าในอัตรารวมเดือนตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 119-30393 จำนวน 597.28 บาท เลขที่ 129-31538 จำนวน 1,866.50 บาท เลขที่ 010-30878 จำนวน 8,366.54 บาท เลขที่ 010-31861 จำนวน 605.98 บาท เลขที่ 020-31503 จำนวน 666.20 บาท เลขที่ 040-31193 จำนวน 1,936.05 บาท เลขที่ 040-30942 จำนวน 1,220.38 บาท เลขที่ 040-30944 จำนวน 3,298.26 บาท เลขที่ 040-30945 จำนวน 2,745 บาท เลขที่ 050-33280 จำนวน 620.28 บาท และเลขที่ 040-33645 จำนวน 1,244.53 บาท ทุกเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์เสร็จ

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะนำคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 47/2531 มาเป็นเกณฑ์คำนวณราคาสินค้าให้สูงขึ้น และเรียกเก็บภาษีอากรเงินเพิ่มภาษีอากรตามฟ้องแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีสิทธิจะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเงินเพิ่มภาษีการค้าและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาล ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรจำนวน 9,113,185.48 บาท และเงินเพิ่มสำหรับอากรขาเข้าในอัตราเดือนละตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังต่อไปนี้ เลขที่ 119-30393 จำนวน 597.28 บาท เลขที่ 129-31538 จำนวน 1,866.50 บาท เลขที่ 010-30878 จำนวน 8,366.54 บาท เลขที่ 010-31861 จำนวน 605.98 บาท เลขที่ 020-31503 จำนวน 666.20 บาท เลขที่ 040-31193 จำนวน 1,936.05 บาท เลขที่ 040-30942 จำนวน 1,220.38 บาท เลขที่ 040-30944 จำนวน 3,298.26 บาท เลขที่ 040-30945 จำนวน 2,745 บาท เลขที่ 050-33280 จำนวน 620.28 บาท และเลขที่ 040-33645 จำนวน 1,244.53 บาท ทุกเดือน นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "เมื่อระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 จำเลยได้นำสินค้าผ้าผืนทอด้วยเส้นใยประดิษฐ์ผ้าผืนทอด้วยฝ้ายและผ้าลินินซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักรทางเรือตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าที่ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จำนวน 16 ฉบับ และจำเลยสำแดงความจำนงว่าสินค้าที่นำเข้ามาเป็นสินค้าที่จำเลยนำมาใช้ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าและจะขอคืนอากรภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งออกตามความในมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 โดยจำเลยได้ใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารวางไว้ต่อโจทก์ที่ 1 แทนการชำระค่าภาษีอากรที่จะต้องเสียแล้วโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยไป หลังจากนั้นจำเลยไม่สามารถนำสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวไปใช้ในการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปออกไปต่างประเทศให้สำเร็จได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า จึงมีสินค้าคงเหลือตามคำฟ้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าแล้วปรากฏว่าราคาสินค้าตามที่จำเลยสำแดงไว้ส่วนใหญ่ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงได้ประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรเพิ่ม ต่อมาธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระค่าภาษีอากรตามจำนวนที่ระบุไว้ในหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยแล้วแต่ยังไม่คุ้มกับจำนวนค่าภาษีอากรที่ประเมินไว้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงได้ทวงถามจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระภายใน 30 วัน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประการแรกว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามพระราช-บัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ตรีหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่กองคืนอากรของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่าจำเลยไม่นำสินค้าที่นำเข้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า จึงส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากจำเลย พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 119-30393 ,129-31538,010-30878 ,010-31861,020-31503 ,040-31193 ,040-30942 ,040-30944 ,040-30945 ,050-33280 ,040-33645,060-30188 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 12,31,53,78,101 เอกสารหมาย จ.2 แผ่นที8,28,48,70,101,100,124,144,163,181 และเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 12 และ 30 ตามลำดับต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงทำการประเมินราคาสินค้าใหม่ และแจ้งให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว ตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16,26,47,72,94 เอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 5,22,43,63,91,116,140,160,178 และเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 9 และ 26 ตามลำดับ และใบตอบรับเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 112 แต่จำเลยเพิกเฉยไม่นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระภายในกำหนดจึงเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามมาตรา 112 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ตามรายละเอียดการคำนวณเงินเพิ่มภาษีอากร เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 43,45,47,49,51,53,55,57,59,61 และ 63 รวมเป็นเงิน 866,651.85 บาท เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ตรี ประกอบมาตรา 40 และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ และมาตรา 19 ตรี บัญญัติถึงเรื่องการที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามมาตรา 112 ตรี นั้นว่ามีได้เฉพาะ 2 กรณี คือ กรณีมิได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามมาตรา 112 ทวิ อย่างหนึ่งกับกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดตามมาตรา 40 อีกอย่างหนึ่ง คดีนี้แม้จะปรากฏว่า จำเลยนำสินค้าเข้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารต่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยมิได้นำสินค้าที่นำเข้านี้ไปผลิตเพื่อส่งออกให้เสร็จสิ้นครบถ้วนภายใน 1 ปี ก็ตาม แต่เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่า จำเลยสำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงทำการประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การประเมินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยยื่นใบขนสินค้าไม่ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการที่ผู้นำเข้าจะนำของออกจากอารักขาของศุลกากร ตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรีได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปมีว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยตัดเศษของบาทจากการคำนวณภาษีชอบหรือไม่ เห็นว่าพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ในหมวด 3 และภาษีการค้าในหมวด 4 ของลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณภาษี" และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 112 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในการเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ เศษของหนึ่งบาทให้ตัดทิ้ง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยกเว้นภาษีแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีนำเงินค่าภาษีทั้งหมดมาชำระ เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้นำเงินค่าภาษีมาชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน การคำนวณภาษีดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นสุด การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้ตัดเศษของบาทจากการคำนวณภาษีตามที่ปรากฏในรายละเอียดการคำนวณเงินเพิ่มภาษีภาษี เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 38 ถึง 64 จึงไม่ชอบ"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรจำนวน 9,979,857.91 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

(เรืองฤทธิ์ ศรีวรรธนะ - ยงยุทธ ธารีสาร - สันติ ทักราล)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021