เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1206 /2541 
บริษัท ปาซาร์ จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่อง ภาษีการค้า (ภ.ค.80)
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 16, 30, 32

โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงาน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า (ภ.ค.80 ) เลขที่ 9071/4/100021 เลขที่ 9071/4/100022 เลขที่ 9071/4/100025 เลขที่ 9071/4/100027 เลขที่ 9071/4/100028 กับให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า (ภ.ค.80) เลขที่ 9071/4/100023 เลขที่ 9071/4/100024 เลขที่ 9071/4/100026 และเลขที่ 9071/4/100029 เฉพาะในส่วนที่ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าจากรายรับค่าห้องพักโรงแรมสยามออคิดและโรงแรมสยามวิลล่า คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการโรงแรม มีสถานประกอบการ 2 แห่ง คือ โรงแรมสยามออคิด และโรงแรมสยามวิลล่า มีสถานประกอบการ 2 แห่ง คือ โรงแรมสยามออคิด และโรงแรมสยามวิลล่า ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนมิถุนายน 2536 สรรพากรจังหวัดสงขลาได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 และปี 2534 ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 188 ต่อมา นายอรรถสิทธิ์ ปราณีจิตต์ กรรมการโจทก์ได้ไปพบและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล. 2 แผ่นที่ 179 ถึง 180 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 และปี 2534 ตามเอกสารหมาย ล. 2 แผ่นที่ 4 กับประเมิน ภาษีการค้าสำหรับเดือนมกราคม 2533 ถึงเดือนธันวาคม 2534 ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า (ภ.ค.80) เลขที่ 9071/4/100021 ถึง 9071/4/100029 เอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 45 ถึง 53 โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะการประเมินภาษีการค้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าการประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว และไม่มีเหตุงดหรือลดเบี้ยปรับให้โจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า การประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่าการประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับรายรับจากกิจการอื่นของโจทก์เว้นแต่รายรับค่าโทรศัพท์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยมีร้อยตำรวจตรีหญิงทัศนีย์ ภู่ประเสริฐ เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ เนื่องจากโจทก์แจ้งเลิกประกอบกิจการ นายอรรถสิทธิ์ ปราณีจิตต์ กรรมการโจทก์ได้มาพบโดยนำบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของโจทก์มาส่งมอบให้และให้ถ้อยคำว่า โรงแรมสยามออคิดของโจทก์มีห้องพักปรับอากาศ 50 ห้อง มีผู้ใช้บริการเข้าพักคืนละประมาณ 10 ห้อง ราคาห้องพักคืนละ 200 บาท ถึง 320 บาท โรงแรมแห่งนี้ยังมีรายได้จากภัตตาคารวันละ 1,000 บาท ถึง 2,000 บาท และรายได้จากไนต์คลับสัปดาห์ละ 1 วัน คือวันจันทร์ซึ่งมีรายรับ 5,000 บาท ถึง 6,000 บาท และโรงแรมสยามวิลล่าของโจทก์มีห้องพัก 33 ห้อง เป็นห้องที่ใช้พัดลม 25 ห้อง ห้องปรับอากาศ 8 ห้อง มีผู้ใช้บริการเข้าพักห้องที่ใช้พัดลมคืนละ 12 ห้อง ราคาคืนละ 120 บาท ถึง 150 บาท เข้าพักห้องปรับอากาศคืนละ 1 ห้อง ถึง 2 ห้อง ราคาคืนละ 280 บาท ถึง 320 บาท และยังมีรายได้จากห้องอาหารที่โรงแรมแห่งนี้ซึ่งเป็นภัตตาคารประเภทมีนักร้องคืนละ 2,000 บาท ถึง 3,000 บาท ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 179 ถึง 180 พยานจึงนำข้อมูลตามคำให้การของนายอรรถสิทธิ์มาประเมินรายรับของโจทก์โดยใช้วิธีเฉลี่ยตามรายได้ขั้นต่ำและขั้นสูงที่นายอรรถสิทธิ์ให้ถ้อยคำไว้ กล่าวคือ รายได้ค่าห้องพักของโรงแรมสยามออคิด พยานถือว่าโจทก์บริการห้องพักได้ราคาห้องละ 260 บาท มีผู้เข้าพักคืนละ 10 ห้อง โจทก์จึงมีรายได้ค่าห้องพักคืนละ 2,600 บาท แล้วคำนวณต่อไปว่าในหนึ่งปี ซึ่งมี 365 วัน โจทก์จะมีรายได้ค่าห้องพัก 949,000 บาท ส่วนรายรับจากกิจการภัตตาคารของโรงแรมแห่งนี้ พยานคำนวณว่าโจทก์มีรายรับถัวเฉลี่ยวันละ 1,500 บาท หรือปีละ 547,500 บาท และมีรายรับจากกิจการไนต์คลับสัปดาห์ละ 5,500 บาท หรือปีละ 286,000 บาท กรณีโรงแรมสยามวิลล่าพยานถือว่าในแต่ละวันโจทก์มีรายรับค่าห้องพักประเภทห้องพัดลม 12 ห้อง ราคา ห้องละ 135 บาท ห้องปรับอากาศ 2 ห้อง ราคาห้องละ 300 บาท รวมเป็นค่าห้องพักเฉลี่ยคืนละ 2,220 บาท หรือปีละ 910,300 บาท และมีรายได้จากห้องอาหารประเภทมีดนตรีของโรงแรมแห่งนี้สัปดาห์ละ 5,500 บาท หรือปีละ 286,000 บาท ปรากฏตามรายละเอียดการตรวจสอบ เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 77 ถึง 90 เห็นว่า เมื่อผู้ประกอบการค้ายื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจกำหนดรายรับโดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบการค้าหรือสถิติของผู้ประกอบการค้าเอง หรือของผู้ประกอบการค้าอื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกัน หรือพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงรายรับได้โดยสมควร ตามมาตรา 87 ทวิ(7) แห่งประมวลรัษฎากร การที่นายอรรถสิทธิ์ ปราณีจิตต์ กรรมการผู้จัดการของโจทก์ได้ให้ถ้อยคำถึงรายได้ของโจทก์ต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในชั้นตรวจสอบไต่สวน ถึงเป็นยอดเงินที่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ให้ปากคำแสดงออกมาเองย่อมผูกพันโจทก์ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินนำยอดเงินดังกล่าวมาเฉลี่ยเพื่อกำหนดรายรับแต่ละเดือน เช่นนี้ย่อมเป็นอำนาจที่เจ้าพนักงานประเมินกระทำได้ แม้จะได้ความตามที่โจทก์อ้างว่าในการกำหนดรายรับของโจทก์นั้น หากเดือนใดโจทก์แสดงรายได้ต่ำกว่ารายรับที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณเฉลี่ย เจ้าพนักงานประเมินจะทำการประเมินรายรับของโจทก์ในเดือนนั้นให้สูงขึ้น แต่หากเดือนใดโจทก์แสดงรายรับเพื่อเสียภาษีการค้าสูงกว่ารายรับที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณได้ก็จะถือว่าโจทก์แสดงรายรับถูกต้อง การประเมินดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการกำหนดรายรับขั้นต่ำและทำให้โจทก์มีรายรับสูงกว่าอัตราเฉลี่ยด้วยนั้นเห็นว่า ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้าเป็นรายเดือนภาษี เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับเฉลี่ยของโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว หากเดือนภาษีใดโจทก์แสดงรายรับต่ำกว่ารายรับเฉลี่ยดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มเติมในเดือนนั้น ๆ ได้ หาเป็นการทำให้มีรายรับสูงกว่าอัตราเฉลี่ยตามข้ออ้างของโจทก์ และวิธีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามจำนวนรายรับดังกล่าวก็มิใช่มีลักษณะเป็นการกำหนดรายรับขั้นต่ำของโจทก์ดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยเพราะที่มาของหลักเกณฑ์ต่างกัน เนื่องจากรายรับของโจทก์ได้อาศัยจากข้อมูลที่กรรมการโจทก์ให้ถ้อยคำไว้ในชั้นตรวจสอบและข้อเท็จจริงที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีการค้าไว้เองเป็นแนวทาง ไม่ได้อาศัยเกิดจากการควบคุมตรวจสอบและจดรายรับประจำวันไว้แต่อย่างใด ข้อที่โจทก์อ้างว่าบริษัทโจทก์มีรายรับต่ำเพราะขณะนั้นโจทก์ทำการปรับปรุงห้องพักโรงแรมสยามวิลล่าจากห้องพัดลมเป็นห้องปรับอากาศ และโรงแรมสยามออคิดผู้มาพักส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ โจทก์คิดค่าห้องเพียงคืนละ 200 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์มีนายปรีชา กรอบเพ็ชร มาเบิกความว่าเป็นผู้รับจ้างทำการปรับปรุงห้องพัก แต่โจทก์ก็ไม่สามารถแสดงหลักฐานการจ้างหรือการจ่ายเงินค่าจ้างในการปรับปรุงดังกล่าว ส่วนโรงแรมสยามออคิดโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าในแต่ละเดือนมีข้าราชการมาพักจำนวนเท่าใดและที่โจทก์อ้างว่าเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับโรคเอดส์ เพลิงไหม้สถานเริงรมย์ในตำบลปาดังเบซาร์ และมีเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวกลัวไม่มาพักและเที่ยวสถานเริงรมย์ โจทก์จึงมีรายได้น้อยลงนั้น เมื่อพิจารณาจากตารางสรุปค่าห้องพักโรงแรมสยามออคิดและโรงแรมสยามวิลล่า ในปี 2533 และปี 2534 ตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 1,3,8 และ 12 แล้วปรากฏว่า โจทก์มีรายรับในช่วงดังกล่าวสม่ำเสมอใกล้เคียงกันกับขณะก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงหามีผลกระทบต่อธุรกิจของโจทก์มากนัก ข้ออ้างของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัย คือ ตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย ล. 2 แผ่นที่ 180 รายรับจากภัตตาคารโรงแรมสยามออคิดและจากภัตตาคารโรงแรมสยามวิลล่าเป็นรายรับรวมของภัตตาคารดังกล่าวหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า ภัตตาคารแต่ละโรงแรมในช่วงกลางวันไม่มีดนตรี รายรับในช่วงดังกล่าวโจทก์นำมาเสียภาษีในประเภทการค้า 7 (ง) ส่วนในช่วงกลางคืนมีดนตรีโจทก์นำรายรับมาเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า 7(ก) คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างนำสืบว่าแต่ละโรงแรมมีภัตตาคารเพียงแห่งเดียว และเมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของนายอรรถสิทธิ์ ปราณีจิตต์ ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 180 แล้ว เห็นได้ว่า นายอรรถสิทธิ์มิได้ให้การแยกประเภทรายรับจากภัตตาคารว่าเป็นรายรับในช่วงไม่มีดนตรีเท่าใดและเป็นรายรับในช่วงมีดนตรีเท่าใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามบันทึกคำให้การดังกล่าว นายอรรถสิทธิ์ให้ถ้อยคำเกี่ยวกับรายรับของภัตตาคารว่าเป็นรายรับรวมจากภัตตาคารเพียงแห่งเดียวในแต่ละโรงแรม ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินรายรับเพิ่มเติมสำหรับภัตตาคารของโรงแรมสยามออคิดในประเภทการค้า 7 (ง) และประเมินรายรับเพิ่มเติมสำหรับภัตตาคารของโรงแรมสยามวิลล่าในประเภทการค้า 7 (ก) จึงไม่ถูกต้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า เลขที่ 9071/4/100021 กับให้ยกฟ้องโจทก์ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า เลขที่ 9071/4/100023 เลขที่ 9071/4/100024 เลขที่ 9071/4/100026 และเลขที่ 9071/4/100029 เฉพาะในส่วนรายรับค่าห้องพักโรงแรมสยามออคิดและโรงแรมสยามวิลล่า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

(ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์ - สันติ ทักราล - เรืองฤทธิ์ ศรีวรรธนะ)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021