เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่461/2541 
บริษัท พี.พี.บางแก้วธุรกิจ จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่อง เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 21, 89/1 พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติม

ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534, มาตรา 24

โจทก์ยอมรับว่า นำรายรับมายื่นแบบแสดงรายการผิดเดือนจริง และยินยอมให้ทำการประเมินเรียกเก็บเงินเพิ่มในส่วนที่ขาด ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบเพียงขอให้งดเบี้ยปรับเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้โจทก์มีสิทธิ์ขอคืนภาษีการค้าที่ชำระไว้แล้วได้ และงดเบี้ยปรับให้แล้ว แต่การที่โจทก์โต้แย้งวิธีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ทำการประเมินโดยไม่นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ได้ชำระไปแล้วนั้น มาพิจารณา แต่ให้โจทก์ยื่นขอภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระแล้วคืนนั้น และการที่โจทก์แจ้งว่า โจทก์ยินดีจ่ายเงินผลต่างระหว่างภาษีการค้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเงินเพิ่มจนถึงวันชำระเงิน การที่โจทก์ยืนยันว่าได้ส่งภาษีมูลค่าเพิ่มครบถ้วนแล้ว ฯลฯ ถือได้ว่าโจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินไว้แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

โจทก์นำส่งเอกสารหลักฐานภายหลังจากการประเมินของเจ้าพนักงาน และหลังจากการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน ตามมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเรื่องที่ผู้ต้องเสียภาษีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19 โดยไม่ยอมมาให้ไต่สวนหรือไม่นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดง หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุอันควร แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ได้มาให้ไต่สวนและส่งบัญชีเอกสารหรือนำหลักฐานมาแสดงเกือบครบถ้วนแล้ว ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลาง รับฟังเอกสารที่โจทก์นำมายื่นในชั้นพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง จึงไม่ขัดกับมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร

การขายสินค้าที่มีการขายเสร็จเด็ดขาดหรือการใช้บริการที่สิ้นสุดลงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 แม้จะมีการชำระค่าตอบแทนหลังวันที่ 1 มกราคม 2535 โจทก์ย่อมมีสิทธินำรายรับซึ่งเป็นค่าตอบแทนไปยื่นเสียภาษีการค้าได้ ส่วนกรณีที่สัญญาคาบเกี่ยวถึงปี 2535 นั้น รายรับจากการให้บริการแต่ละครั้งมีการรับค่าตอบแทนจากการให้บริการแยกได้ชัดเจน จึงถือได้ว่าการให้บริการแต่ละครั้งสิ้นสุดในวันนั้น มิใช่ถือวันสิ้นสุดสัญญาเป็นหลัก

การคำนวณเงินเพิ่มกรณีไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนจะต้องเริ่มนับแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือยื่นแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ดังนั้นการที่โจทก์ชำระภาษีในเดือนที่เหลื่อมไปจึงต้องคำนวณเงินเพิ่มจนถึงวันที่โจทก์ชำระภาษี นั้น มิใช่คำนวณถึงวันที่มีการประเมินภาษี

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021