เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่134/2541 
บริษัทข้าวไทย จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่อง ยกเลิกการเรียกเก็บภาษี
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป. รัษฎากร (มาตรา 27 จัตวา, 40, 50, 54, 65, 67 ตรี, 91/2)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประมาณ ที่ ต.1/1020/1/100464 ที่ ต. 1/1020/2/100070 ที่ ต. 1/1020/2/100071ที่ ต. 1/1020/4/102617 ที่ ต. 1/1020/4/102618 และที่ 1020/6/100001 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 23/2538/1 เลขที่ 24ก/2538/1เลขที่ 24ข/2538/1 เลขที่ 25ก/2538/1 เลขที่ 25ข/2538/1และเลขที่ 26/2538/1 (ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2537) ให้ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า ภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาล จำนวนทั้งสิ้น 80,497,904.85 บาท จากโจทก์

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเดิมเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2532 และปี 2533 ซึ่งโจทก์ได้จัดส่งบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ให้ตรวจสอบ แต่ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์จลาจล เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นเหตุให้กรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ถูกเพลิงไหม้และเอกสารต่างๆ ถูกเพลิงไหม้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งให้ยุติการตรวจสอบภาษีของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษี อ้างว่าเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รอบระยะเวลาบัญชีปี 2533จำนวนเงิน 1,650,000 บาท เป็นเรื่องที่ผู้บริหารชุดเก่าของโจทก์ทุจริตสร้างหลักฐานเท็จขึ้น เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 ใหม่ แล้วประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่โจทก์จะต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมทั้งเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 30,326.44 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีโจทก์ยื่นประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรเป็นเงินเพิ่มจำนวน 5,966,032 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีแสดงรายได้ขาดไปคิดเป็นเงินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มเป็นเงิน 61,801,690 บาท ภาษีการค้าพร้อมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับเดือนมิถุนายน 2533 และเดือนมิถุนายน 2534 เป็นเงิน 18,210,905 บาท และ 10,754,881 บาท ตามลำดับ ภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 2,972,144 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 13 ถึง 18 โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เป็นเงินภาษีและเงินเพิ่มมากกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้เดิมอีกจำนวน 20,290.44 บาท ส่วนภาษีอื่นคงให้โจทก์ชำระตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ แต่ ให้ลดเบี้ยปรับ สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะให้ ร้อยละ 50 ตาม เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 30 ถึง 35

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อแรกว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีโจทก์ใหม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ยุติการตรวจสอบภาษีของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2532 และปี 2533 เนื่องจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่โจทก์ส่งมาให้ตรวจสอบภาษีถูกเพลิงไหม้จากเหตุการณ์จลาจลเดือนพฤษภาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 11 ต่อมา โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอ้างว่า เงินภาษีอากรหัก ณ ที่จ่ายรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 จำนวนเงิน 1,650,000 บาท เป็นเรื่องที่ผู้บริหารชุดเก่าของโจทก์ทุจริตสร้างหลักฐานเท็จขึ้นเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 ใหม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งยุติการตรวจสอบภาษีข้างต้นมิใช่เป็นข้อยืนยันว่าโจทก์เสียภาษีไว้ถูกต้องแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่า โจทก์เสียภาษีไว้ถูกต้องและมีกรณีต้องคืนภาษีให้แก่โจทก์ตามคำร้องหรือไม่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 27 จัตวา ว่า "เพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งความแก่ผู้มีสิทธิขอคืนหรือบุคคลอื่น ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร" ดังนี้ การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีโจทก์ใหม่โดยตรวจสอบเอกสารหลักฐานเท่าที่มีอยู่และสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อต่อไปมีว่า โจทก์นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายประจำปี 2533 ถูกต้องหรือไม่ เพียงใด ข้อเท็จจริงรับกันว่าโจทก์เป็นผู้ออกภาษีเงินได้แทนลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งอุทธรณ์ของโจทก์ยอมรับว่า ในการคิดคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้โจทก์ไม่ได้นำค่าภาษีที่โจทก์ออกให้นี้มารวมเป็นเงินได้พึงประเมินด้วย เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 บัญญัติว่า"เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ดังกล่าวไม่ว่าในทอดใด..." ดังนี้ เงินค่าภาษีอากรที่โจทก์ออกแทนลูกจ้างของโจทก์ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ซึ่งโจทก์ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 การที่โจทก์ไม่นำเงินค่าภาษีที่ออกแทนมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินและหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ขาดไปตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากรส่วนการคำนวณจำนวนเงินตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นจากที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้แต่อย่างใด จึงฟังได้ว่า โจทก์นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายประจำปี 2533 ไม่ถูกต้อง และจะต้องรับผิดตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีเหตุอันสมควรในการยื่นประมาณการกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 ขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การขายที่ดินในคดีนี้ของโจทก์เป็นการขายที่ดินอันถือว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ กรณีไม่ถือว่าเป็นรายได้ที่ได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการของโจทก์ จึงไม่ได้นำรายได้ส่วนนี้ไปแสดงประมาณการกำไรสุทธิ นับว่ามีเหตุอันสมควรนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 ตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 88ถึง 92 ระบุผลกำไรจากการขายที่ดินรายนี้เป็นรายได้ของโจทก์ ทั้งยังแสดงค่าใช้จ่ายจากการขายที่ดินดังกล่าวหักออกจากราคาที่ดินไว้อีกด้วย ซึ่งโจทก์ขายที่ดินรายนี้ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2533 ก่อนที่โจทก์จัดทำประมาณการกำไรสุทธิซึ่งโจทก์ต้องยื่นรายการภายในสองเดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี (คือวันที่ 1 มกราคม2533) โดยโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ภ.ง.ด. 51 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2533 ตามเอกสารหมาย ล.3แผ่นที่ 87 จึงแสดงแจ้งชัดว่า โจทก์รู้อยู่แล้วว่ารายได้จากการขายที่ดินในคดีนี้ถือเป็นเงินได้ที่โจทก์ต้องนำไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี ข้ออ้างของโจทก์ข้างต้นจึงไม่มีเหตุอันสมควรในการยื่นประมาณการกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิตามมาตรา67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นดุจกัน ปัญหามีต่อไปว่า โจทก์แสดงรายได้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 ขาดไปหรือไม่ เพียงใด ซึ่งมีปัญหาเฉพาะในส่วนรายได้จากการขายที่ดิน โจทก์อุทธรณ์ว่ารายรับที่โจทก์ยื่นขาดไปจำนวน 28,567,123.29 บาท ไม่ใช่รายรับที่ได้ในปี 2533 แต่เป็นรายรับที่ได้ในปี 2532 โดยได้รับเป็นค่าเช่าที่ดินล่วงหน้าเมื่อโจทก์ขายที่ดินใน 2523จึงมิได้นำรายรับดังกล่าวมารวมเสียภาษีเงินได้ในปี 2533 แต่นำไปลงบัญชีในปี 2534 และได้ชำระภาษีในปี 2534 แล้ว หากจะเรียกเก็บภาษีจากโจทก์อีกย่อมเป็นการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์นำที่ดินในคดีนี้ให้บริษัทเซ็นทรัลธนบุรี จำกัดเช่ามีกำหนด 30 ปี คิดเป็นเงิน 30,000,000 บาท โดยทำหนังสือสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน2532 ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2533 โจทก์ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทเซ็นทรัลธนบุรี จำกัด ในราคา 326,720,000 บาท ซึ่งรวมค่าเช่าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดิน แต่โจทก์ถือค่าเช่าเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2532 จำนวน 1,000,000 บาท ส่วนรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2533 คิดเป็นเงินค่าเช่า 432,876.71 บาท จึงคงเหลือค่าเช่าที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินเป็นเงิน28,567,123.29 บาท ดังนั้น ราคาขายที่ดินคิดเป็นเงิน 325,287,123.29 บาท แต่โจทก์ลงบัญชีเป็นรายได้จำนวน 296,720,000 บาท รายได้จึงขาดไปจำนวน 28,567,123.29 บาท ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติว่า "การคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรคหนึ่งให้ใช้เกณฑ์สิทธิโดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น..." ดังนี้โจทก์ต้องนำรายได้จากการขายที่ดินเป็นเงิน 325,287,123.29 บาท มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 ของโจทก์ การที่โจทก์นำรายได้จำนวน 28,567,123.29 บาท ไปคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2534 จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้นำรายได้ดังกล่าวไปคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2534 และได้เสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ไปแล้วนั้น หากเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ต่อไป กรณีไม่ใช่เป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อนดังอุทธรณ์ของโจทก์อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

ปัญหามีต่อไปว่า รายจ่ายที่โจทก์กล่าวอ้างสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 เป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา65 ตรี (9)(13) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่เพียงใด ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องขับไล่ผู้อาศัยในที่ดิน ค่าขนย้าย ค่าทางภาระจำยอมค่าที่ดินส่วนที่ขาดจำนวน ค่านายหน้า ค่าปรับปรุงถมดิน และทำเขื่อนในที่ดินรายนี้รวมเป็นเงิน 76,017,321.60 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 4 ถึง 11 แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามคำให้การของนายอดิเรก ลิมปะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการของโจทก์และหนังสือของโจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 232 ถึง 233 และ 275 ถึง 276 ว่า การขายที่ดินรายนี้ไม่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กรณีมิได้มีการจ้างทำของแต่อย่างใดจึงไม่มีค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อีกทั้งนายขวัญชัย ไทยาภิรมย์ พยานฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเซ็นทรัลธนบุรี จำกัด ผู้ซื้อที่ดินรายนี้ได้มาชี้แจงเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินดังกล่าวเบิกความยืนยันว่า การซื้อขายที่ดินรายนี้ไม่มีค่านายหน้า ไม่มีการฟ้องขับไล่หรือมีการบุกรุกที่ดิน สภาพที่ดินไม่มีการปรับปรุงอะไร คงมีแต่เขื่อนเก่า ไม่มีการก่อสร้างเขื่อนใหม่ ไม่มีการถมดินแต่อย่างใด ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการซื้อขายที่ดินรายนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายดังที่โจทก์กล่าวอ้างกรณีถือเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงจึงไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากรที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ในการประเมินภาษีและการวินิจฉัยอุทธรณ์รายนี้ไม่มีหลักฐานของโจทก์ประกอบการพิจารณา แต่นำคำร้องของโจทก์มารับฟังประกอบการวินิจฉัยจึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินได้เรียกผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้วมาให้ถ้อยคำประกอบการพิจารณาดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น อีกทั้งแม้กรณีจะถือว่าค่าใช้จ่ายตามที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นรายจ่ายต้องห้ามก็ดี แต่เจ้าพนักงานประเมินก็ยังคิดหักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของราคาขายที่ดินนับว่าถูกต้องชอบด้วยเหตุผลแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า การขายที่ดินของโจทก์ในคดีนี้เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์อันเข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร ซึ่งต้องเสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินหรือไม่ และกฎหมายภาษีธุรกิจเฉพาะมีผลย้อนหลังให้โจทก์ต้องเสียภาษีดังกล่าวหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าขายข้าว ทำโรงสีเป็นหลักและมีวัตถุประสงค์ซื้อขาย แลกเปลี่ยน เช่าหรือให้เช่าซึ่งทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในกิจการที่กล่าวแล้ว (ยกเว้นที่ดินเพื่อหากำไร) ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 258 ถึง 260 วัตถุประสงค์ข้อ (10) ที่ดินที่โจทก์ขายในคดีนี้เป็นที่ดินซึ่งโจทก์ซื้อมาตั้งแต่ปี 2491 เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงสีและโกดังเก็บข้าวของโจทก์ ต่อมาสภาพแวดล้อมไม่เหมาะที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวต่อไปจึงทิ้งไว้มิได้ใช้ประโยชน์อย่างใด ครั้นวันที่ 29 มิถุนายน 2532 โจทก์นำที่ดินดังกล่าวให้บริษัทเซ็นทรัลธนบุรี จำกัด เช่ามีกำหนด 30 ปี คิดเป็นเงิน 30,000,000 บาท จากนั้น วันที่ 8 มิถุนายน 2533 โจทก์จึงขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่บริษัทเซ็นทรัลธนบุรี จำกัด คิดเป็นเงิน 325,287,123.29 บาท เห็นว่า เดิมโจทก์ซื้อที่ดินรายนี้เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการ แต่ภายหลังปล่อยทิ้งไว้มิได้ใช้ประโยชน์อย่างใด ต่อมาได้ขายที่ดินดังกล่าวหลังจากซื้อมานาน 42 ปี ซึ่งราคาที่ขายก็เป็นไปตามมูลค่าสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น และขายหมดทั้งแปลงรวม 6 โฉนด ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่ามีการพัฒนาปรับปรุงที่ดินก่อนขายคงขายตามสภาพที่ดินที่เป็นอยู่เมื่อคำนึงถึงลักษณะของการได้มา อีกทั้งระยะเวลาการถือครองและเหตุผลในการขายที่ดินรายนี้ของโจทก์ย่อมประจักษ์ชัดว่าเป็นการขายทรัพย์สินเพราะไม่มีประโยชน์ที่จะยึดถือที่ดินไว้ในการประกอบกิจการอีกต่อไป แม้จะได้ความว่าภายหลังโจทก์ขายที่ดินรายนี้ไปแล้ว โจทก์ได้นำเงินที่ขายไปหาซื้อที่ดินแปลงอื่นเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยซื้อขายที่ดินแปลงอื่นมาก่อน ประกอบกับโจทก์มิได้มีวัตถุประสงค์ซื้อขายที่ดินเพื่อหากำไรดังกล่าวมาแล้วการขายที่ดินรายนี้ของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรอันจะต้องเสียภาษีการค้าตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะเกิดเป็นข้อพิพาทคดีนี้ ทั้งกรณีจะนำบทบัญญัติในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับแก่คดีนี้หาได้ไม่ เพราะเป็นกฎหมายที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 อีกทั้งเป็นบทบัญญัติพิเศษกำหนดความหมายของการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรไว้ให้ชัดเจน ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเท่านั้น กรณีไม่มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับกับการขายที่ดินรายนี้ของโจทก์ซึ่งเสร็จเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2533 แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเช่นกัน การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะในคดีนี้จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า เลขที่ ต.1/1020/4/102617 เลขที่ ต.1/1020/4/102618 และตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เลขที่ 1020/6/100001 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 25 ก/2538/1 เลขที่ 25ข/2538/1และเลขที่ 26/2538/1 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2537 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง"

(เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ - ยงยุทธ ธารีสาร - ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021