เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8479/2540 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4), 54 วรรคหนึ่ง, 65 ตรี (9), 70 วรรคหนึ่ง

รายจ่ายที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจะต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงและรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ก็ให้นำไปถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไป คดีนี้โจทก์ใช้เกณฑ์สิทธิในการลงบัญชีและคำนวณกำไรสุทธิมีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม โดยโจทก์จะประมาณการรายจ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าบริหารงาน เงินเดือน และโบนัสของพนักงานไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณการตอนปลายเดือนมิถุนายนเพื่อจ่ายในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ส่วนครั้งที่ 2 ประมาณการตอนปลายเดือนธันวาคมเพื่อจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไป การประมาณการรายจ่ายทั้งสองครั้งนี้โจทก์ได้ลงบัญชีเป็นรายจ่ายและนำไปหักออก จากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 โจทก์ ประมาณการรายจ่ายดังกล่าวครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2520 เพื่อจ่ายในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2520 เป็นเงิน 112,293,964.89 บาท และครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2520 เพื่อจ่ายในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2521 เป็นเงิน 119,213,814.44 บาท โดยโจทก์ได้ ลงบัญชีเป็นรายจ่ายและนำไปหักออกจากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 แล้ว เมื่อประมาณการรายจ่ายครั้งที่ 2 มิใช่ประมาณการรายจ่ายที่จะต้องจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2520 รายจ่ายตามประมาณการครั้งที่ 2 จึงมิใช่รายจ่ายจริงของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 แต่เป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำรายจ่ายตามประมาณการครั้งที่ 2 มาหักออกจากรายได้เพื่อคำนวณหากำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 เพราะเท่ากับเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีดังกล่าวมิใช่กรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 ได้ จึงนำมาลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 อันเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่ถัดไป แต่เป็นเรื่องที่โจทก์เองไม่นำรายจ่ายมาหักออกจากรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิให้ตรงตามรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่ายขึ้นจริง ทั้ง ๆ ที่โจทก์สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้ กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 65ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร
โจทก์เปิดปัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารในต่างประเทศเพื่อดำเนินธุรกิจกับลูกค้าของโจทก์ในต่างประเทศ หากเงินที่ธนาคารต่างประเทศจ่ายออกไปมีจำนวนมากกว่าเงินที่โจทก์มีในบัญชี ธนาคารต่างประเทศจะจ่ายเงินออกไปให้ก่อนโดยคิดดอกเบี้ยจากเงินที่เบิกเกินบัญชีไป เมื่อโจทก์นำเงินเข้าบัญชี ธนาคารต่างประเทศก็จะนำยอดดอกเบี้ยนั้นมาหักทอนบัญชี การที่ธนาคารต่างประเทศผู้เป็นเจ้าหนี้ได้นำยอดดอกเบี้ยมาหักทอนบัญชีนั้น ก็เท่ากับเป็นการที่โจทก์ได้จ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารต่างประเทศผู้เป็นเจ้าหนี้แล้ว ประกอบกับโจทก์ได้นำดอกเบี้ยดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่าโจทก์ได้จ่ายดอกเบี้ยนั้นให้ธนาคารต่างประเทศผู้เป็นเจ้าหนี้ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จ่ายจากโจทก์ซึ่งอยู่ในประเทศไทยไปให้ธนาคารในต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อธนาคารต่างประเทศเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งขึ้นตาม กฎหมายของต่างประเทศซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับดอกเบี้ยอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4) ที่จ่ายจากประเทศไทย ธนาคารต่างประเทศจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากเงินได้ดังกล่าว โดยโจทก์ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากดอกเบี้ยอันเป็นเงินได้พึงประเมินที่จ่ายนั้น ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อโจทก์มิได้หักภาษี ณ จ่ายและนำส่ง โจทก์จึงต้องรับผิดร่วมกับธนาคารต่างประเทศผู้มีเงินได้ในภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 70 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021