เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8292/2540 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดมโทรทัศน์โจทก์

สรรพากรจังหวัดฉะเชิงเทรา กับพวก

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 3 อัฏฐ, 19, 22, 27 ทวิ ,30 (1) (ข), 65, 65 ตรี (3)

83 ตรี (เดิม)

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องขยายเวลายื่นรายการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่เสียภาษีไว้ ไม่ถูกต้องก่อนหน้านี้ ได้มีโอกาสยื่นรายการและชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มสำหรับภาษีอากรที่ชำระเพิ่มเติม และเป็นอันพ้นผิดไม่ต้องถูกเรียกตรวจสอบประเมินภาษีใหม่ในภายหลัง แต่หากผู้นั้นยังยื่นรายการและชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร ไม่ถูกต้อง และได้ยื่นชำระเพิ่มเติมตามประกาศนี้ ก็หาเป็นอันพ้นผิดไม่ต้องถูกเรียกตรวจสอบประเมินภาษีใหม่ในภายหลังอีกแต่อย่างใด
ในขณะออกหมายเรียกประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกผู้ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือบริบูรณ์มาไต่สวน แต่ต้องกระทำภายในเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แม้ต่อมาภายหลังได้มีการแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้การออกหมายเรียกต้องกระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวหาทำให้หมายเรียกที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้นกลับกลายเป็นหมายเรียกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับกับหมายเรียกก่อนหน้านั้น การออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานจึงชอบแล้ว ส่วนระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2536 ข้อ 21 กำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตรวจสอบให้รีบดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กรณีออกหมายเรียกตรวจสอบเกิน 1 ปีภาษี หรือรอบระยะเวลาบัญชีให้แล้วเสร็จอย่างช้าไม่เกินสองปีนับแต่วันออกหมายเรียก แต่หากไม่สามารถตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาจะต้องชี้แจงเหตุผลเพื่อขออนุมัติขยายเวลา เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปอีก และได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภายในระยะเวลาที่ขยายจึงชอบแล้ว
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนสรรพากรเขตหรือผู้แทนและอัยการจังหวัดหรือผู้แทน ตาม ปร.ก มาตรา 30 (1) (ข) เมื่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราได้กระทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือว่าผู้แทนได้กระทำในนามของผู้ว่าราชการจังหวัด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดอันเป็นตำแหน่งหน้าที่ราชการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ เมื่อโจทก์ไม่มีบัญชีคุมสินค้ามาแสดงหรือเพื่อเป็นหลักฐานตรวจสอบในชั้นตรวจสอบภาษีตลอดจนชั้นพิจารณาของศาล การคำนวณหาต้นทุนสินค้าจึงต้องใช้วิธีคำนวณตามหลักฐานการสั่งซื้อสินค้าหักด้วยส่วนลดรับตามงบกำไรขาดทุนในรอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์ เมื่อโจทก์นำส่วนลดที่ได้รับจากผู้ขายสินค้า เพราะได้ชำระเงินค่าสินค้าภายในเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและส่วนลดจากการขายสินค้าได้ตามเป้าที่ผู้ขายกำหนดมาหักด้วยส่วนลดรับตามงบกำไรขาดทุนในรอบระยะเวลาบัญชี มาถือเป็นราคาต้นทุนสินค้า จึงไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่ส่วนลดที่โจทก์ได้รับทันทีที่โจทก์ซื้อสินค้า
ส่วนรายได้จากการขายสินค้า ใบเสร็จรับเงินค่าขายสินค้าของโจทก์มีทั้งให้รายละเอียดของสินค้าแต่ละรุ่นที่ขาย และไม่ให้รายละเอียดของสินค้าแต่ละประเภทที่ขาย จึงไม่สามารถหายอดขายจากจำนวนหน่วยของสินค้าที่ขายไป โดยวิธีตรวจสอบจากยอดสินค้าคงเหลือต้นงวดยกมาบวกยอดซื้อสินค้าระหว่างปีหักด้วยยอดขายสินค้าตลอดปี เป็นยอดสินค้าคงเหลือปลายงวด (หน่วยของสินค้า) แท้จริงเท่าใด เจ้าพนักงานประเมินใช้วิธีแยกประเภทสินค้าโดยไม่อาจแยกจำนวนรุ่นของสินค้าได้ และการจำหน่ายสินค้าใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อน เมื่อปรากฏกรณีจำนวนสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมีจำนวนมากกว่ายอดขายตามใบเสร็จรับเงิน และไม่ปรากฏยอดสินค้าคงเหลือปลายปีในแบบ ภ.ง.ด.50 ถือว่าโจทก์ขายสินค้าโดยไม่ลงบัญชีขายและคิดคำนวณราคาขายตามใบเสร็จรับเงินของสินค้าชนิดนั้น ๆ แต่ถ้าสินค้าที่มีไว้เพื่อขายแต่ละชนิดไม่ปรากฏยอดขายอยู่ในใบเสร็จรับเงินและไม่ปรากฏยอดสินค้าคงเหลือ ปลายปีในแบบ ภ.ง.ด.50 ถือว่าโจทก์ขายสินค้าโดยไม่ลงบัญชีขายและคิดคำนวณราคาขายตามราคาที่โจทก์ซื้อสินค้ามาก่อน หักส่วนลดรับโดยไม่บวกกำไรขั้นต้น ทำให้ราคาขายที่ประเมินจะเท่ากับราคาซื้อก่อนหักส่วนลดรับ จึงเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
เมื่อโจทก์มีรายได้จากการขายเสาอากาศโทรทัศน์ แต่ไม่มีการรับจ้างติดตั้งเสาอากาศดังกล่าวให้แก่ลูกค้า ลูกค้าผู้ซื้อได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกติดตั้งเอง ดังนั้นรายจ่ายค่าสังกะสี ปูนซีเมนต์ กระเบื้องเคลือบ และอิฐมอญ จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการแต่ถือว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการ ส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่าย ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
โจทก์ประกอบกิจการขายสินค้า แต่ไม่จัดทำบัญชีคุมสินค้าและไม่เก็บรักษาไว้ที่สถานการค้าหรือสถานประกอบธุรกิจของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 5(1) ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 13 และตาม ปร.ก. มาตรา 83 ตรี (เดิม) จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างประโยชน์อันใดเนื่องจากการฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์ เมื่อโจทก์อ้างว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์ไม่อาจนำสืบให้เห็นตามข้ออ้างได้ การประเมินจึงถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021