เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7507/2540 
บริษัท วังสมุทร จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 22, 65, 65 ตรี (13)

โจทก์มิได้บันทึกรายการในบัญชีรายจ่ายว่ามีค่าพัฒนาที่ดิน แม้กรรมการผู้จัดการของโจทก์จะเบิกความว่าโจทก์ว่าจ้างนาย ว. ให้ทำการถางป่า ถมดิน ทำคันบ่อ เพื่อเลี้ยงกุ้งและสุกร แต่ตามคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ของนาย ว. ไม่ปรากฏว่านาย ว. ประกอบกิจการรับจ้างพัฒนาที่ดิน ทั้งโจทก์ก็มิได้นำนาย ว. มาเบิกความรับรองและยืนยันว่านาย ว. ได้รับจ้างโจทก์พัฒนาที่ดินและรับเงินไปจากโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้พัฒนาที่ดินและเสียค่าพัฒนาที่ดินไปจริง ส่วนที่อ้างว่าได้จ่ายค่าก่อสร้างอาคาร นั้น นอกจากต้นทุนค่าก่อสร้างอาคารจะเป็นคนละส่วนกับต้นทุนที่ดินพิพาทแล้ว ยังปรากฎจากสัญญาซื้อขายที่ดินและบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมว่า โจทก์ขายที่ดินโดยไม่มีสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงไม่อาจนำค่าก่อสร้างอาคารมาเป็นต้นทุนที่ดินที่โจทก์ขายได้ สำหรับดอกเบี้ยซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุนซื้อและพัฒนาที่ดิน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าดอกเบี้ยดังกล่าวเกิดจากการที่โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และได้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการทั่ว ๆ ไปของโจทก์ จึงไม่สามารถนำดอกเบี้ยดังกล่าว ค่าพัฒนาที่ดิน และค่าก่อสร้างอาคาร มาคิดหักเป็นต้นทุนค่าที่ดินในการคำนวณกำไรสุทธิ
เมื่อผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ชี้แจงว่าโจทก์ประกอบกิจการเลี้ยงสุกร มีรายได้จากฟาร์มเลี้ยงสุกรอย่างเดียว และมิได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานของจำเลยว่าโจทก์ประกอบกิจการเลี้ยงกุ้ง ทั้งมิได้มีการบันทึกในบัญชีเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งไว้แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าโจกท์ประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งด้วย ส่วนค่าอุปกรณ์ดำน้ำ ค่าที่นอนหมอนมุ้ง รวมทั้งค่าวิเคระห์ดิน โจทก์มิได้โต้แย้งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ดังนั้น ค่าอาหารกุ้ง ค่าอุปกรณ์ดำน้ำ ค่าที่นอนหมอนมุ้ง และค่าวิเคราะห์ดิน จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้นำมาคำนวณหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13) ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์มิได้นำรายได้จากการขาย ที่ดิน 3 แปลง มารวมคำนวณกำไรสุทธิ เมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยตรวจพบและมีหนังสือแนะนำให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติม โจทก์กลับเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติพฤติการณ์จึงฟังได้ว่าโจทก์มีเจตนา หลีกเลี่ยงภาษีอากร จึงไม่มีเหตุที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับให้ แต่เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน 1,521,301.56 บาท เบี้ยปรับ 1 เท่า ตามมาตรา 22 ซึ่งมีจำนวนเกินกว่า 1,521,302.56 บาท ไม่ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับเป็นเงิน 1,566,801.56 บาท จึงไม่ชอบ
ส่วนเงินเพิ่มเป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้งดได้และจะลดได้ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจพิจารณางดหรือลดได้

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021