เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7125/2540 
บริษัทเลนโซ่ เพจจิ้ง จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร (มาตรา 77/1,79/3) วิธีพิจารณาความแพ่ง ประเด็นข้อพิพาท

ฟ้องแย้ง (มาตรา 177,183), พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ (มาตรา 17)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะค่าสินค้าเป็นเงิน 3,186,483.85 บาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 223,053.87 บาท โดยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม (คำนวณถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2536) รวมเป็นเงิน 67,894.48 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ (33,901.08 บาท) นับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้เงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจจำหน่ายและให้บริการวิทยุติดตามตัว โดยได้รับสัมปทานจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ใช้เครื่องหมายการค้าว่า "อี่ซี่คอล" ปกติโจทก์ขายวิทยุติดตามตัวให้ลูกค้าโดยตรงราคาเครื่องละ8,000 บาท ขายผ่านตัวแทนราคาเครื่องละ 7,000 บาทและเดิมโจทก์ใช้เลขหมายในการติดต่อเป็นเลข 7 หลักต่อมาประมาณปลายปี 2535 ได้เปลี่ยนเป็นเลขหมาย หลักคือ เลขหมาย 1500 และโจทก์จัดให้มีการส่งเสริมการขายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 ถึงเดือนมีนาคม 2536 โดยโฆษณาในหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย จ.8 หน้าพิเศษ ซ. และ จ.10 ความว่า ระหว่างเดือนธันวาคม 2536 ถึง 31 มีนาคม 2536 โจทก์จะขายวิทยุติดตามตัว จำนวน 1,500 รายแรกในราคาเครื่องละ 1,500 บาท โดยผู้ซื้อจะต้องชำระค่าบริการรายเดือนล่วงหน้า 6 เดือน ค่าบริการแบบทั่วประเทศเดือนละ 450 บาท รวมเป็นเงิน 2,700 ค่าบริการแบบภูมิภาคเดือนละ 350 บาท รวมเป็นเงิน 2,100 บาท ค่าเปิดเครื่องรวมภาษีมลค่าเพิ่มอีกเครื่องละ 500 บาท เมื่อรวมค่าวิทยุติดตามตัว ค่าบริการรายเดือนและค่าเปิดเครื่องแล้ว ผู้ซื้อ 1,500 รายแรก จะต้องชำระเงินสำหรับการบริการแบบทั่วประเทศเครื่องละ 4,667.29 บาท และบริการแบบภูมิภาคเครื่องละ 4,067.29 บาทหลังจากโจทก์ขายวิทยุติดตามตัวได้ครบ 1,500 รายแรก แต่ยังไม่ถังวันสิ้นสุดการส่งเสริมการขายโจทก์ยังคงขายต่อไป แต่เปลี่ยนวิธีการขายสำหรับการบริการทั่วประเทศโจทก์ขายเครื่องละ 4,667.29 บาท ส่วนการบริการแบบภูมิภาคโจทก์ขายเครื่องละ 4,067.29 บาท โดยไม่เก็บค่าบริการรายเดือนมีกำหนดระยะเวลา 6 เดือนและหลังจากโจทก์ขายครบ 1,500 เครื่องแล้ว โจทก์ขายโดยวิธีดังกล่าวได้อีก 935 เครื่องก็ยังไม่ถึงวันสิ้นสุดวันส่งเสริมการขายตามที่โจทก์ประกาศไว้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ขายวิทยุติดตามตัวจำนวน 935 เครื่อง ต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ โจทก์มีนายนรินทร์ ศรีกัลยานนท์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ นายวรพจน์โศภวานิช อดีตผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินโจทก์และนายมณี ธรรมเทียร หัวหน้าแผนกบริการสัมพันธ์ กองวิทยุบริการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นพยานได้ความว่า 2533 โจทก์ได้รับสัมปทานในการบริการวิทยุติดตามตัวจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย มีเลขหมายสำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการติดต่อกับศูนย์ของโจทก์เป็นเลขหมาย 7 หลัก ในสัญญากำหนดให้โจทก์เป็นผู้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารระบบคอมพิวเตอร์ เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมรวมทั้งติดตั้งเครื่องและอุปกรณ์ ณ สถานีรับส่งสัญญาณและก่อสร้างอาคารสถานีโดยยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย และโจทก์ต้องจ่ายผลตอบแทนให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยอัตราร้อยละ 33.66 ของรายได้จากการให้บริการที่ได้รับจากผู้ใช้บริการเป็นรายเดือน แต่ไม่น้อยกว่าปีละ 2,500,000 บาท และกำหนดว่าในระยะเวลา 15 ปีจะต้องจ่ายผลประโยชน์ให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1,383,000,000 บาท ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.34 ก่อนที่โจทก์จะได้รับสัมปทาน มีผู้ได้รับสัมปทานจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอยู่ 3 รายก่อนสิ้นปี 2535 โจทก์มีผู้ใช้บริการประมาณ 700 ราย ในขณะเดียวกันผู้รับสัมปทานรายอื่นมีผู้ใช้บริการตั้งแต่ 10,000 รายถึง 100,000 ราย ต่อมาโจทก์ได้เปลี่ยนเลขหมายสำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการติดต่อกับศูนย์ของโจทก์จากเลขหมาย 7 หลัก ซึ่งจดจำยากเป็นเลขหมาย 4 หลัก คือเลขหมาย 1500 โจทก์ประสงค์ให้มีลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นและเพื่อให้ผู้ใช้บริการจดจำหมายเลข 1500 ของโจทก์ โจทก์จึงต้องทำการส่งเสริมการขายโดยโฆษณาในหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย จ.8 หน้าพิเศษ ซ. และเอกสารหมาย จ.10 โดยระบุว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 โจทก์จะขายวิทยุติดตามตัวราคาเครื่องละ 1,500 บาท จำนวน 1,500 เครื่องหลังจากโจทก์ขายวิทยุติดตามตัวครบ 1,500 เครื่องแล้ว โจทก์ได้รับอนุมัติจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยให้ยกเว้นค่าประกันการใช้เครื่อง ค่าบริการรายเดือนเป็นเวลา 6 เดือน นับจากวันที่ซื้อ และค่าเปิดใช้บริการในช่วงส่งเสริมการขายจำนวน 20,000 เครื่อง ตามหนังสือการสื่อสารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.9 โจทก์จึงเปลี่ยนวิธีการขายสำหรับวิทยุติดตามตัวแบบบริการทั่วประเทศโจทก์ขายเครื่องละ 4,667.29 บาท และแบบบริการภูมิภาคโจทก์ขายเครื่องละ 4,067.29 บาท โดยผู้ซื้อได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าบริการรายเดือนเป็นเวลา 6 เดือน ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า โจทก์โฆษณาว่าในช่วงส่งเสริมการขายโจทก์จะขายวิทยุติดตามตัวในราคาเครื่องละ 1,500 บาท เพียง 1,500 เครื่อง ดังนั้น วิทยุติดตามตัวจำนวน 935 เครื่องที่โจทก์ขายเป็นจำนวนที่เกินกว่า 1,500 เครื่องที่โจทก์โฆษณาไว้ แม้จะขายในช่วงที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาส่งเสริมการขายก็ถือว่าเป็นการขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุสมควร เห็นว่า โจทก์ได้รับสัมปทานการบริการวิทยุติดตามตัวตั้งแต่ปี 2533 โจทก์ดำเนินธุรกิจจนถึงก่อนสิ้นปี 2535 โจทก์มีลูกค้าเพียงประมาณ 700 ราย ในขณะเดียวกันผู้ได้รับสัมปทานรายอื่นมีลูกค้าตั้งแต่ 10,000 ราย ถึง 100,000 ราย รายได้หลักที่โจทก์มุ่งหวังอยู่ที่ค่าบริการรายเดือนที่ลูกค้าใช้บริการ มิใช่อยู่ที่กำไรจากการขายเครื่องรับวิทยุติดตามตัวอันเป็นรายได้รอง ดังนั้น โจทก์จึงจำเป็นต้องหาลูกค้าให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อโจทก์จะได้รับค่าบริการจากลูกค้าทุกเดือน การที่โจทก์โฆษณาโดยระบุว่าลูกค้าที่มาใช้บริการในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 จำนวน 1,500 รายแรก โจทก์จะขายวิทยุติดตามตัวในราคาเครื่องละ 1,500 บาทนั้น ความสำคัญคือช่วงส่งเสริมการขายได้แก่ระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 ส่วนข้อความที่ระบุว่าจะขายเครื่องละ 1,500 เพียง 1,500 เครื่องแรก เป็นเพียงกลยุทธ์กระตุ้นให้ลูกค้าสามารถจดจำเลขหมาย 1500 อันเป็นเลขหมายใหม่ของโจทก์และรีบมาใช้บริการเท่านั้น มิใช่ว่าโจทก์เจตนาจะส่งเสริมการขายเพียง 1,500 เครื่องเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่สมประโยชน์ที่โจทก์ส่งเสริมการขายเพื่อให้ได้ลูกค้าในช่วงดังกล่าวมากที่สุดดังจะเห็นได้ว่าจากกลยุทธ์ดังกล่าวโจทก์เริ่มส่งเสริมการขายตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2535 ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม 2535 โจทก์ขายวิทยุติดตามตัวได้ถึง 2,435 เครื่อง แม้เมื่อโจทก์ขายครบ 1,500 เครื่องแล้วโจทก์ได้เปลี่ยนวิธีการขาย โดยโจทก์ไม่เก็บค่าบริการรายเดือนเป็นเวลา 6 เดือนก็ตาม แต่จำนวนเงินที่ผู้ใช้บริการต้องชำระแก่โจทก์ยังคงเท่ากับ 1,500 เครื่องแรก และยังอยู่ในระยะเวลาที่โจทก์กำหนดเป็นช่วงส่งเสริมการขาย โดยโจทก์ขายแก่บุคคลทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเช่นนั้นนับว่าโจทก์สินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุสมควร ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าในชั้นตรวจสอบ นายวรพจน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยอมรับการตรวจสอบโดยไม่โต้แย้งพร้อมบันทึกยินยอมใช้ค่าภาษีอากรตามที่ตรวจสอบประกอบกับนายวรพจน์ยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับ เจ้าพนักงานประเมินลดเบี้ยปรับให้แล้วถือว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้วนั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายมหาชนที่กำหนดภาระหน้าที่ให้ประชาชนปฏิบัติต่อรัฐ จึงต้องบังคับโดยเคร่งครัดในทางที่จะไม่ก่อให้เกิดภาระหน้าที่หรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและทรัพย์สินของประชาชนดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น แต่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายถึงแม้ว่านายวรพจน์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะทำบันทึกยอมชำระภาษีอากรตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับ แต่เจ้าพนักงานประเมินลดเบี้ยปรับให้แล้วก็ตาม โจทก์ก็หามีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นตามบันทึกที่นายวรพจน์ทำไว้แต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงไม่อาจใช้บันทึกดังกล่าวบังคับต่อโจทก์ให้ต้องชำระภาษีอากรตามนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2536 เป็นเงิน 67,849.48 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ 33,901.08 บาท นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้เงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระภาษีอากรจำนวนดังกล่าวไว้ จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรในส่วนนี้ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
(พิศาล พิริยะสถิต - สันติ ทักราล - สุชาติ ถาวรวงษ์)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021