เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่55/2540 
กรมสรรพากรโจทก์

ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญกสิกรรม กับพวก

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง อายุความสะดุดหยุดลง (มาตรา 193/14)

วิธีพิจารณาความแพ่ง

อำนาจฟ้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (มาตรา 55, 144)

ป.รัษฎากร (มาตรา 30)

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระภาษีอากรจำนวน 1,710,084.34 บาท แก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 150/2533 คดีหมายเลขแดงที่ 196/2534 ของศาลภาษีอากรกลางจึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคแรก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งในปัญหาดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่าก่อนฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เกี่ยวกับภาษีที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระในคดีนี้ และคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลเท่ากับเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามความในมาตรา 30 (2) แห่งประมวลรัษฎากร คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระเงินค่าภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยแล้วหรือไม่ จึงต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเสียก่อน ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภาษีอากรที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยเป็นคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าว นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระเงินค่าภาษีอากรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ก็ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์และไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ ว่า หากศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชนะในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว อาจก่อให้เกิดปัญหาในการเรียกเก็บและบังคับให้ชำระค่าภาษีอากรค้างรายนี้เนื่องจากคดีจะขาดอายุความนั้นเห็นว่า การที่โจทก์แจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยที่ 1 ทราบ เท่ากับเป็นการสั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรประเมินตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้อำนาจไว้ ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีอากรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ก็อาจถูกยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดโดยไม่จำต้องมีการฟ้องคดีอีก การที่โจทก์แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบจึงผลบังคับตามกฎหมายที่ถือได้ว่า เป็นการที่เจ้าหนี้ได้ทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลอย่างเดียวกันกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีเพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้อง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 173 เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

(สะสม สิริเจริญสุข - จรัญ หัตถกรรม - สมพงษ์ สนธิเณร)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021