เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่6187/2539 
บริษัท เงินทุนพานิช จำกัดโจทก์

นายธนิต ธนทิตย์ กับพวก

จำเลย
เรื่อง จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง รับสภาพหนี้ แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ (มาตรา 193/14(1), 350)

วิธีพิจารณาความแพ่ง มอบอำนาจให้ฟ้องคดี ฟ้องเคลือบคลุม ข้อกฎหมายที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ (มาตรา 47, 172, 249)

ป. รัษฎากร(บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7 (ข))

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 1840 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินใด ๆ ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 24572, 24573, 24618 ถึง 24620 และ 24623 ถึง 24626 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 24494, 24495, 24498 ถึง 24501และ 24614 ถึง 24617 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 24142 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กู้เงินจากโจทก์ด้วยการนำเช็คมาขายลดแก่โจทก์และกู้เงินแบบทั่วไปหลายครั้ง และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังนี้ คือ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 63,436,643.83 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2531 ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เป็นเงิน 17,532,311 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่จำเลยทั่งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 112,422,643.30 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า ตามคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเช็คมาขายลดและกู้เงินแบบทั่วไปกับโจทก์กี่ครั้งแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนเท่าใดและเมื่อใดบ้าง อันเป็นการไม่บรรยายซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุมการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ในการขายลดเช็คและกู้ยืมประมาณ 20,000,000 บาท เท่านั้น หนังสือรับสภาพหนี้และการค้ำประกันตามหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีผลผูกพันหากฟังว่าหนังสือรับสภาพหนี้ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3 การรับสภาพหนี้ในส่วนดอกเบี้ยก็ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพราะเกิน 5 ปีแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ระหว่างพิจารณาสืบพยานโจทก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนของโจทก์และแต่งตั้งนายทรงเดช ประดิษฐ์สมานนท์ เป็นผู้ชำระบัญชี ต่อมาระหว่างพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสามศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด และศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ได้

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,968,954.83 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน 63,436,643.83 บาท ในอัตราร้อยละ12 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2532 อัตราร้อยละ18.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533 อัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 อัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้หักเงินจำนวน 700,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนออกทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 31,453,688.47 บาท ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1840 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 24572, 24573, 24618, 24619, 24620, 24623, 24624, 24625, 24626, 24494, 24495, 24498, 24499, 24500, 24501, 24614, 24615, 24616, 24617 และ 24142 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2528 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาตกลงชำระหนี้ของบริษัทโรงแรมเชียงคำ จำกัด บริษัทธนาวรรณ จำกัด และนายทรงวุฒิ วิริยาภรณ์ รวม 45,920,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวน 10,516,643.83 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 56,436,643.83 บาท ให้แก่โจทก์ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาตกลงชำระหนี้เอกสารหมาย จ.16 ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้จำนวน 63,436,643.83 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวน 17,532,311.00 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน80,968,954.83 บาท ให้แก่โจทก์มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.25 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ สำหรับประเด็นข้อนี้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีจึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นมาว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้รวมถึงจำเลยที่ 2 ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประเด็นนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การต่อสู้เหมือนกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขอให้การตัดฟ้องโจทก์ว่าตามคำฟ้องข้อ 7 โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า "นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กู้เงินไปจากโจทก์ด้วยวิธีการนำเช็คมาขายลดและกู้เงินแบบทั่วไปหลายครั้งทุกครั้งที่กู้เงินไปก็ได้รับเงินไปครบถ้วนทุกครั้ง..."แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเช็คมาขายลดและกู้เงินแบบทั่วไปกับโจทก์กี่ครั้ง แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใดและเมื่อใดบ้าง อันเป็นการไม่บรรยายซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่อาจเข้าใจได้ว่ายอดหนี้ที่แท้จริงที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่สามารถให้การต่อสู้คดีอย่างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุมเห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 7 ถัดจากข้อความที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นมากล่าวอ้างเป็นข้อต่อสู้แล้วโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดต่อไปว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงใช้หนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาคือจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาขายลดเช็คและกู้เงินอันเป็นมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ สัญญาค้ำประกันและจำนอง และคำขอบังคับคือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นคือ หนังสือรับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้ หนังสือสัญญาค้ำประกันและหนังสือสัญญาจำนอง ส่วนการขายลดเช็คกี่ครั้ง กู้เงินกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใดนั้น เป็นรายละเอียดของมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ต่อไปจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสาม ข้อ 2 ว่าการมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้สมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 ได้กระทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2533 กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทโจทก์ในช่วงนั้นตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 มีอยู่ด้วยกัน 5 คน และกรรมการ2 ใน 5 คน ดังกล่าวลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัททำการแทนโจทก์ได้ นางผาสุขนิตย์ ปิณฑะรุจิ และนายนาวี รัตนาภรณ์เป็นกรรมการ 2 ใน 5 คนของโจทก์ จึงเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนโจทก์ได้ นางผาสุขนิตย์และนายนาวีได้มอบอำนาจให้นายปองธรรม กาญจนรัตน์ หรือนางอารมณ์ เตโชนิมิต คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอีกคนหนึ่งรวมเป็น 2 คน พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทสามารถกระทำการเกี่ยวกับกิจการของบริษัทได้ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2534 นายปองธรรมผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 ได้ร่วมกับนายนาวีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอีกคนหนึ่งรวมเป็น 2 คน ลงลายมือชื่อมอบอำนาจช่วงให้นางสาววิไลรัตน์ โปวิบูลย์ฟ้องคดีนี้พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 ในขณะที่นายปองธรรม และนายนาวีทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 นี้ โจทก์ได้เปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ชุดใหม่แล้วตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 ปัญหาว่า นายปองธรรมผู้รับมอบอำนาจจากนางผาสุขนิตย์และนายนาวีกรรมการผู้พ้นอำนาจไปแล้วตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 จะมีอำนาจร่วมกับนายนาวีทำหนังสือมอบอำนาจให้นางสาววิไลรัตน์ฟ้องคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นางผาสุขนิตย์และนายนาวีลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 28 กันยายน 2533 เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบริษัทโจทก์จึงเป็นการกระทำของบริษัทโจทก์ แม้ต่อมานางผาสุขนิตย์และนายนาวีจะพ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทโจทก์หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ได้ทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้นก็ยังคงมีผลสมบูรณ์อยู่หาระงับไปไม่นายปองธรรมจึงร่วมกับนายนาวีมีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้นางสาววิไลรัตน์ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ได้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2453/2529ระหว่างนางอรุณี เจริญเผ่า โจทก์ บริษัทลัคกี้เทคซ์ (ไทย) จำกัด จำเลย ส่วนเรื่องที่จำเลยทั้งสามฎีกาเกี่ยวกับการปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.6 นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุว่า มอบอำนาจให้นายปองธรรมหรือนางอารมณ์คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์อีกคนหนึ่งรวมเป็น 2 คน พร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์สามารถกระทำการเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของโจทก์ตามที่ระบุไว้รวมทั้งการแต่งตั้งตัวแทนช่วง เช่นนี้ เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวมีอำนาจกระทำการเกี่ยวกับกิจการของบริษัทมากกว่าครั้งเดียวได้ ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7(2) แห่งประมวลรัษฎากรส่วนที่หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกำหนดให้มีกรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทน บริษัทอีกคนหนึ่งร่วมลงลายมือชื่อด้วยนั้นก็เป็นเพียงการกำหนดวิธีการที่ผู้รับมอบอำนาจคนเดียวนั้นต้องปฏิบัติในการกระทำการเกี่ยวกับกิจการของบริษัทโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจดังนี้ การปิดอากรแสตมป์ในเอกสารหมาย จ.6 จำนวน 30 บาท จึงชอบแล้ว หาใช่การมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างกระทำกิจการแยกกันอันจะต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่ ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 จึงสมบูรณ์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ต่อไปจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อ 3 ที่ว่าจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด... ข้อนี้จำเลยทั้งสามฎีกาว่า สัญญาตกลงชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.16 เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จะต้องทำเป็นสัญญา 2 ฝ่าย ระหว่างโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ใหม่ แต่สัญญาเอกสารหมาย จ.16 มีเพียงจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ลงลายมือชื่อยอมรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 บริษัทธนาวรรณ จำกัด และนายทรงวุฒิโดยโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อเป็นคู่สัญญาด้วยแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์แจ้งถึงการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ใหม่เป็นจำเลยที่ 1 ให้ลูกหนี้เดิมทั้งสามรายทราบ สัญญาแปลงหนี้ใหม่จึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามสัญญาเอกสารหมาย จ.16 มาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้ เห็นว่ามาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า "แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่" ซึ่งสัญญาตกลงชำระหนี้เอกสารหมาย จ.16 ระบุว่า "ตามที่บริษัทโรงแรมเชียงคำจำกัด (จำเลยที่ 2) บริษัทธนาวรรณ จำกัด และนายทรงวุฒิ วิริยาภรณ์ ได้ขอสินเชื่อจากบริษัทเงินทุนพานิช จำกัด (โจทก์) โดยการนำเช็คที่นายธนิต ธนทิตย์(จำเลยที่ 1) เป็นผู้สั่งจ่ายขายลดไว้แก่โจทก์ และยังมีหนี้ที่ยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์....3 จำนวน เป็นเงิน 45,920,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 ตกลงชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยของเงินดังกล่าว...และยังค้างชำระเป็นเงิน 10,516,643.83 บาท รวมทั้งสองจำนวนเป็นเงิน 56,436,643.83 บาท ให้แก่โจทก์จนครบถ้วนภายในกำหนด 15 ปี... ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระหนี้ในจำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดในเดือนใดและยังฝ่าฝืนไม่ชำระในเมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระโดยกำหนดเวลาอันสมควรไว้ ให้โจทก์มีสิทธิเรียกชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ในระหว่างการผ่อนชำระหากโจทก์มอบให้บุคคลใดเข้าตรวจสอบกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตกลงที่จะให้ความสะดวกและร่วมมือกับบุคคลดังกล่าวทุกประการ" เห็นได้ว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.16 มีลักษณะเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ถือได้ว่าเป็นสัญญา 2 ฝ่าย หาใช่จำเลยที่ 1 ตกลงฝ่ายเดียวไม่ และข้อความในสัญญาดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้คนใหม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้ทำขึ้นโดยขืนใจจำเลยที่ 2 บริษัทธนาวรรณ จำกัด และนายทรงวุฒิผู้เป็นลูกหนี้เดิมทั้งสามรายแต่อย่างใด สัญญาแปลงหนี้ใหม่ตามเอกสารหมาย จ.16 จึงมีผลบังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ มาตรา 350 ดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จึงหาจำต้องให้เจ้าหนี้และลูกหนี้คนใหม่ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายไม่ และบทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องแจ้งการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิมทั้งสามรายทราบดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.16 ได้ ส่วนหนี้ตามเอกสารหมาย จ.25 ข้อ 1.2 เป็นการที่จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 1,556,876 บาท ที่ค้างชำระอยู่ตามหนังสือสัญญากู้เงินลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2528 เอกสารหมาย จ.17 ซึ่งจำเลยที่ 1 กู้จากโจทก์และหนี้ตามเอกสารหมาย จ.25 ข้อ 1.3 เป็นการที่จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ลงวันที่ 14 มีนาคม 2531 จำนวน 1,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งจำเลยที่ 1 กู้จากโจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้เงินกู้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวด้วย..."

พิพากษายืน

(บรรเทิง มุลพรม - สมาน เวทวินิจ - สมิทธิ์ วราอุบล)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021