เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 1479/2539 
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)โจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่อง สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง แปลงหนี้ใหม่ บัญชีเดินสะพัด (มาตรา 349, 856)

ประมวลรัษฎากร อากรแสตมป์ (มาตรา 104)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าอากร จำนวน 1,500 บาท กับเงินเพิ่มอากรอีก 9,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,500 บาท ไปชำระโจทก์นำเงินไปชำระ ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 โดยขอสงวนสิทธิที่จะขอยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาโจทก์ยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 1 ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้ชี้ขาดว่าการทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มวงเงินไม่ใช่เป็นการทำสัญญาขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และการที่โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์ในบันทึกเพิ่มวงเงินเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นการถูกต้องแล้ว ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ซึ่งเป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

จำเลยให้การว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 พบว่าตราสารสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุณยาและบุตร ซึ่งทำเมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2525 เงินกู้ 2,000,000 บาท ได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วน ต่อมาโจทก์ให้ผู้กู้ทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ในปี 2526, 2527 และ 2528 โดยมิได้เปลี่ยนแปลงวงเงิน จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ในบันทึกหรือคำขอต่ออายุสัญญาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 กรณีที่มีปัญหาโต้แย้ง เนื่องจากโจทก์จัดทำสัญญาต่ออายุกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวขึ้นใหม่ ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ตกลงให้กู้เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1,000,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินกู้ทั้งสิ้น 3,000,000 บาท โดยโจทก์ทำเป็นบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ มีข้อความเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากสัญญาเดิมทั้งหมดมีภาระผูกพันเกี่ยวกับจำนวนเงินจาก2,000,000 บาท เป็น 3,000,000 บาท และจัดให้มีผู้ค้ำประกันในวงเงินเพิ่มขึ้นจาก 2,000,000 บาท เป็น 3,000,000 บาท จึงเป็นการทำสัญญาขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ต้องปิดอากรแสตมป์ตามยอดเงินอันเป็นฐานในการคำนวณใหม่จากเงิน 3,000,000 บาท เป็นค่าอากรแสตมป์จำนวน 1,500 บาท จากการตรวจสอบครั้งแรกสัญญาดังกล่าวยังไม่มีการปิดอากรแสตมป์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่า โจทก์จะต้องปิดอากรแสตมป์ในตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 เป็นจำนวนค่าอากรแสตมป์เท่าใด ในปัญหาข้อนี้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 104 บัญญัติว่า "ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น" และลักษณะแห่งตราสาร 5 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของประมวลรัษฎากร กำหนดว่า '"กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมหรือตกลงให้เบิกเกินบัญชี ค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ค่าอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสารนี้ เมื่อคำนวณแล้วถ้าเกิน 10,000 บาท ให้เสีย 10,000 บาท..."ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2525 ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุณยาและบุตรขอกู้เงินตามวิธีและธรรมเนียมประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท กำหนดชำระหนี้ให้หมดสิ้นภายในวันที่15 กุมภาพันธ์ 2526 ได้ทำสัญญากันไว้ตามรายละเอียดในเอกสารหมาย จ. 1แผ่นที่ 4 โดยได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ในตราสารดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นได้ทำบันทึกต่ออายุสัญญากันอีก 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2526 วันที่ 18 มกราคม 2527 วันที่ 8 มีนาคม 2528 และวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ตามลำดับรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 15 ถึงแผ่นที่ 18 ให้เบิกเงินเกินบัญชีได้ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2530 และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุณยาและบุตรได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยตกลงเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 4 ขึ้นอีก 1,000,000 บาท รวมเป็นจำนวน. 3,000,000 บาท ข้อตกลงอื่นคงให้เป็นไปตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 4 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 ดังนี้ เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 ย่อมเป็นสัญญาแห่งการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเข้าลักษณะแห่งตราสาร 5 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของประมวลรัษฎากร โจทก์ผู้ให้กู้มีหน้าที่ต้องปิดอากรแสตมป์ในอัตราทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่ตกลงให้เบิกเกินบัญชีเป็นค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ปัญหาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองยังโต้แย้งกันนั้นอยู่ที่ว่ายอดเงินที่ตกลงให้เบิกเกินบัญชีตามตราสารเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 นี้เป็นจำนวน 1,000,000 บาทหรือจำนวน 3,000,000 บาท ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 4 ประกอบเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 15 ถึงแผ่นที่ 18 ว่า โจทก์ตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุณยาและบุตรเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ได้ในวงเงิน 2,000,000 บาท ได้ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2530 ดังนั้นในวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2529 ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุณยาและบุตรยังมีข้อตกลงเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ได้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 4 ประกอบเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 18 ได้อยู่จำนวน 2,000,000 บาท สัญญาตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 4 หาได้ถูกยกเลิกไปแล้วไม่ ฉะนั้น การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุณยาและบุตรตกลงเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ตามตราสารเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1,000,000 บาทในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 จึงเป็นการที่โจทก์ตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุณยาและบุตรเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารตามตราสารเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 5 ในยอดเงินเพียง 1,000,000 บาท ส่วนอีกจำนวน 2,000,000บาท ยังคงเป็นยอดเงินเบิกเกินบัญชีตามตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 4 ซึ่งโจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์ไว้บริบูรณ์แล้ว หาใช่ยอดเงินทั้งจำนวน 3,000,000 บาท เป็นยอดเงินเบิกเกินบัญชีตามตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 ไม่ เมื่อยอดเงิน เบิกเกินบัญชีตามตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 มีจำนวนเพียง 1,000,000 บาทโจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์ในตราสารดังกล่าวในยอดเงิน 1,000,000 บาท คิดเป็นค่าอากรแสตมป์จำนวน500 บาท ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 104 ประกอบลักษณะแพ่งตราสาร 5 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อแรกจึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อที่ 2 มีว่า ในวันที่ 21 กันยายน 2531 ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ทำการตรวจสอบตราสารเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 ที่สำนักงานของโจทก์สาขาสงขลานั้น ตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 มีแสตมป์จำนวน 500 บาท ปิดไว้แล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีนายภูษิต ตันรัตนพงศ์ พนักงานสินเชื่อของโจทก์ สาขาสงขลา ผู้เป็นพยานในเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 เบิกความยืนยันว่า ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 อันเป็นวันทำตราสารเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 ขึ้นนั้น พยานเป็นผู้ปิดอากรแสตมป์ลงในด้านหลังเอกสารดังกล่าวและขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดทับเอกสารนั้นแล้ว และในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 ซึ่งนายสุทธิวัฒน์ ศิลปกรรมพิเศษ ผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาสงขลา นำตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 ไปแสดงต่อนายรวินั้น ตราสารดังกล่าวมีแสตมป์ปิดไว้จำนวน 500 บาท ก็ตาม แต่จำเลยก็มีนายรวิพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์เบิกความยืนยันว่า ในวันที่ 21 กันยายน 2531 ที่พยานไปทำการตรวจสอบเอกสารที่สำนักงานโจทก์ สาขาสงขลา นั้น ได้ตรวจพบว่า ตราสารเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 ไม่มีอากรแสตมป์ปิดไว้แต่อย่างใด หากตราสารดังกล่าวได้ปิดอากรแสตมป์ไว้พยานจะต้องประทับตราและลงลายมือชื่อกำกับไว้ดังเช่นที่ปรากฏในตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 4และเป็นไปไม่ได้ที่พยานจะไม่เห็นอากรแสตมป์ที่ปิดอยู่เพราะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมในการตรวจด้วยถึง 2 คน หลังจากตรวจสอบแล้วพยานได้มีหนังสือหารือไปยังสรรพากรจังหวัดตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1-2 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2531 โดยระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุณยาและบุตรได้ทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มวงเงินขึ้นอีก 1,000,000 บาท จากสัญญาเดิมซึ่งได้ทำไว้ในวงเงิน 2,000,000 บาท รวมเป็น 3,000,000 บาท แต่มิได้ปิดอากรแสตมป์ในสัญญาฉบับใหม่แต่อย่างใด และหลังจากนายรวิทราบคำตอบข้อหารือของจำเลยที่ 1 แล้วก็ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 4 ลงวันที่ 3 เมษายน 2532 แจ้งไปยังผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาสงขลา ยืนยันไปด้วยว่า บันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ทำกันขึ้นใหม่ในการเพิ่มวงเงินขึ้นอีก 1,000,000 บาท นั้นมิได้ปิดอากรแสตมป์ไว้แต่อย่างใดขอให้นำตราสารดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์เรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ พร้อมด้วยเงินเพิ่มจำนวน 6 เท่า ตามนัยหนังสือตอบข้อหารือของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ เอกสารหมาย ล. 2 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 3 ที่นายรวิมีถึงผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาสงขลาก็แจ้งว่า โจทก์จะต้องนำเงินค่าอากรแสตมป์มาชำระจำนวน 1,500 บาท เงินเพิ่มจำนวน 9,000 บาท อันหมายถึงว่าโจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ในตราสารเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 แต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยจึงสอดคล้องกันและประกอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักตีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางตำหนิว่า หากนายรวิตรวจพบว่าตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 มิได้ปิดอากรแสตมป์ นายรวิก็น่าที่จะบันทึกผลการตรวจดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน แต่ตามข้อเท็จจริงในเอกสารหมาย จ.11 หาได้มีการบันทึกไว้เช่นนั้นแต่อย่างใดไม่ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้นายรวิจะมิได้บันทึกข้อเท็จจริงว่า ''ตรวจพบตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 มิได้ปิดอากรแสตมป์" ลงไว้ในเอกสารหมาย จ.11 ก็ตาม แต่เอกสารหมาย จ. 11ที่นายรวิบันทึกไว้ก็ไม่มีข้อความใดยอมรับว่า ตราสารเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 มีอากรแสตมป์ปิดไว้ เช่นกันเมื่อโจทก์นำสืบรับว่า มีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 ว่า จะต้องปิดอากรแสตมป์จำนวน 500 บาท หรือ 1,500 บาท โดยที่เอกสารหมาย จ. 11 ก็มิได้บันทึกข้อโต้แย้งกันดังกล่าวลงไว้จำเลยก็ย่อมนำสืบได้เช่นเดียวกันว่าเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5มิได้ปิดอากรแสตมป์ไว้ ดังนั้นเมื่อจำเลยทั้งสองมีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักดีกว่าดังเช่นที่มีเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 4 มาแสดงยืนยันว่าตราสารเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 มิได้ปิดอากรแสตมป์ไว้แต่อย่างใด หลักฐานของจำเลยที่ 1 ย่อมรับฟังได้ ส่วนบันทึกข้อความในเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 1 และ ล.1 แผ่นที่ 59 นั้น เป็นเพียงบันทึกตามข้อเท็จจริงที่นายรวิพบเห็นจากตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 เท่านั้นไม่ได้ยืนยันไปถึงว่า ตราสารเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 ได้ปิดอากรแสตมป์ไว้จำนวน 500 บาท ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ตามที่นายภูษิตพยานโจทก์เบิกความยืนยันไม่ศาลจึงต้องฟังตามพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองว่า ในวันที่ 21 กันยายน 2531ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ทำการตรวจสอบตราสารเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 ที่สำนักงานโจทก์ สาขาสงขลานั้น ตราสารดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ไว้จำนวน 500 บาทแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์จึงมีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรจากโจทก์ตามตราสารเอกสารหมายจ. 1 แผ่นที่ 5 จำนวน 500 บาท และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 3,000 บาทตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 114(2)(ก) บัญญัติไว้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์มีหนังสือแจ้งให้โจทก์เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรรวม 10,500 บาท และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์จึงเกินจำนวนไปกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้''

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ ตามหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรที่ 1718/2533 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2533 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ 0849/15/2537 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2537 เป็นให้โจทก์ชำระเงินค่าอากรแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 500 บาท และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 3,000 บาท

(สุนพ กีรติยุติ - สะสม สิริเจริญสุข - จำลอง สุขศิริ)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021