เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2023/2538 
นายสุชัย ตียหิรัญวัฒนาโจทย์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่อง เพิกถอนคำสั่งอายัดที่ดินพิพาท
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป.รัษฎากร (มาตรา 12) วิธีพิจารณาความแพ่ง โต้แย้งสิทธิ (มาตรา 55)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบราชการในจังหวัดเชียงใหม่ มีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 34168 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2530 จำเลยที่ 2 ในฐานะปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวมีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทของโจทก์ ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน และมิใช่เป็นผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรจำเลยที่ 2 กระทำโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจตามกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองถอนคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 34168 ภายใน7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายวันละ 300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะเพิกถอนคำสั่งอายัด

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริงเนื่องจากโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตเป็นการฉ้อฉล จำเลยที่ 2 สั่งอายัดที่ดินพิพาทตามอำนาจหน้าที่ตามประมวลรัษฎากรโดยสุจริต มิได้กระทำในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ออกคำสั่งอายัดดังกล่าว โจทก์กล่าวอ้างว่าเสียหายวันละ 300 บาท ไม่เป็นความจริง โจทก์ทราบเหตุคดีนี้เกินกว่า 1 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งอายัด ห้ามทำนิติกรรมใด ๆในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 34168 ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทซึ่งถูกจำเลยที่ 2 มีคำสั่งอายัดโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 เป็นของนายสนธยา อินตายนต์ ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรแก่จำเลยที่ 1 นายสนธยาได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2529 ในวันที่ 14เมษายน 2530 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาทโดยอ้างเหตุว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยการฉ้อฉล จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับนายสนธยา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างฎีกา ปัญหาตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 หรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทของโจทก์มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย จึงไม่ตกอยู่ในอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจสั่งอายัดที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ตามคำสั่งอายัดของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 2 อ้างอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2525 และความตามบทบัญญัติ ดังกล่าววรรคสองบัญญัติว่า เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าว อธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรเขตก็ได้ และในวรรคสามของมาตราดังกล่าวบัญญัติให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีตามวรรคสองตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ากฎหมายให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรเท่านั้น เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรของนายสนธยา จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจอายัดที่ดินพิพาทของโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าได้มีการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนโดยฉ้อฉลระหว่างโจทก์กับนายสนธยาแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าผลคดีถึงที่สุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนแล้ว เมื่อปัจจุบันโจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามกฎหมายอยู่ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจอายัดที่ดินพิพาทของโจทก์ได้แม้จำเลยที่ 1 จะได้ยื่นฟ้องโจทก์และนายสนธยาขอให้เพิกถอนการโอนโดยฉ้อฉลไว้แล้วก็ตาม เพราะไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนให้อำนาจำเลยที่ 2 กระทำได้ คำสั่งอายัดที่ดินพิพาทของโจทก์ตามเอกสารหมายจ.2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สำหรับปัญหาตามฎีกาจำเลยทั้งสองที่ว่า ที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนคำสั่งอายัดด้วยเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้สั่งอายัดที่พิพาทจึงไม่ชอบที่จะให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนคำสั่งอายัดของจำเลยที่ 2 ด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนคำสั่งอายัดนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

(ปราโมทย์ ชพานนท์ - อุระ หวังอ้อมกลาง - เสริม บุญทรงสันติกุล)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021