เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่217/2538 
บริษัทสิทธินันท์ จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ชำระภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่ม เพราะเข้าใจผิดในกฎหมาย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป.รัษฎากร การตรา พ.ร.ฎ. (มาตรา 3) พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและการยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54)

โจทก์ บริษัทสิทธินันท์ จำกัด

จำเลย กรมสรรพากร

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ชำระภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มแก่จำเลยเพราะเข้าใจผิดในกฎหมาย ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 63,290,402 บาท ให้แก่โจทก์ และจำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ในต้นเงินจำนวน 57,447,553 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรจากจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางว่า โจทก์ผลิตวุ้นเส้น เส้นหมี่ และแป้งสลิ่ม บรรจุหีบห่อผนึกที่มีเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอกจำหน่าย วุ้นเส้น เกรดที่โจทก์ผลิตจำหน่ายผลิตจากแป้งถั่วเขียว เกรดบีและเกรดซีผลิตจากแป้งถั่วเขียวผสมกับแป้งมันฝรั่ง เส้นหมี่ที่ผลิตจากแป้งข้าวจ้าว แป้งสลิ่มผลิตจากแป้งถั่วเขียว วุ้นเส้น เส้นหมี่ และแป้งสลิ่มที่โจทก์ผลิต จำหน่ายไม่มีสารชนิดอื่นเจือปน ถือผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่ว อันเป็นสินค้าตามประเภทการค้า 1 ชนิด 1 (ก) ของบัญชีอัตราการค้าท้ายหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผลิตในราชอาณาจักร โจทก์ยื่นเสียภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มแก่จำเลยประจำเดือนกันยายน 2523 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2531 ยกเว้นเดือนมกราคม 2530 ถึงเดือนกรกฎาคม 2530 ไว้รวม 57,545,647 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 57,545,647 บาทคืนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 (ซึ่งใช้บังคับระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2519) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2529) มาตรา 5 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้าดังต่อไปนี้... (8) สินค้าตามประเภทการค้า 1 ชนิด (ก) ของบัญชีอัตราการค้าท้ายหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่ผลิตในราชอาณาจักรและมิได้ระบุในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ สินค้าที่ยกเว้นภาษีการค้าตาม (8) ไม่รวมถึงสินค้าที่ระบุในมาตรา 78 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร..." และบัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว หมวด 1 ชนิดสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม มีรายการระบุสินค้าไว้คือ (4) ช็อกโกแลต ลูกวาด หมากฝรั่ง สินค้าที่ใช้อมหรือขบเคี้ยว หรือสินค้าอันมีลักษณะเดียวกัน เครื่องปรุงรส กลิ่นหรือสี อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ นอกจากอาหารสัตว์ แต่ไม่รวมถึงสินค้าตาม (5) ทั้งนี้ เฉพาะที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึก หรือบรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้า (5) นมข้น นมผง นมสด ผงฟู น้ำผึ้ง น้ำมันปรุงอาหาร นอกจากน้ำมันมะพร้าว ทั้งนี้ เฉพาะที่นำเข้าในราชอาณาจักร... (10) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่ว เฉพาะที่นำเข้าในราชอาณาจักร" ส่วนพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 179) พ.ศ. 2529 (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2530) มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกความใน (8) ของมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 152) พ.ศ. 2527 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน" (8) สินค้าตามประเภทการค้า 1 ชนิด 1 (ก) ของบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรเฉพาะที่ผลิตในราชอาณาจักรและมิได้ระบุในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 และบัญชีที่ 3 ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ดังต่อไปนี้(ก) เนื้อและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ซึ่งบริโภคได้... (ข) เครื่องปรุงรสกลิ่นหรือสี อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ ทั้งนี้ เฉพาะที่มิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึก หรือที่มิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก (ค) นมสด นมผง หางนมผง (ง) เครื่องดื่ม เครื่องปรุงหรือประกอบอาหาร (จ) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่ว (ฉ) อาหารสัตว์ (ช) ยาทุกชนิด... (ซ) ปุ๋ย... (ฌ) สินค้าอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด... สินค้าที่ยกเว้นภาษีการค้าตาม (8) ไม่รวมถึงสินค้าที่ระบุในมาตรา 78 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร" และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 133) พ.ศ. 2526 (ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2526) มาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความใน (4) ของหมวด 1 ใน บัญชีที่ 1 แห่งบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีการค้า (ฉบับที่ 57) พ.ศ. 2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน" (4) สินค้าที่เป็น (ก) ช็อกโกแลต ลูกกวาด หมากฝรั่ง สินค้าที่ใช้อมหรือขบเคี้ยวหรือสินค้าอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน (ข) เครื่องปรุงรส กลิ่นหรือสี อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ นอกจากอาหารสัตว์ แต่ไม่รวมถึงสินค้าตาม (5) ทั้งนี้เฉพาะที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึก หรือที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก" โจทก์อ้างว่ากฎหมายดังกล่าวยกเว้นภาษีการค้าแก่สินค้าที่โจทก์ผลิตจำหน่าย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มที่ชำระแก่จำเลยไปแล้วจำนวน 57,545,647 บาทคืน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า สินค้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วบรรจุหีบห่อผนึกมีเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก อันเป็นสินค้าตามประเภทการค้า 1 ชนิด 1 (ก) ของบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผลิตในราชอาณาจักรแล้ว จึงมีปัญหาว่า สินค้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายในช่วงเดือนกันยายน 2523 ถึงเดือนธันวาคม 2529 เป็นสินค้าที่มิได้ระบุในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 หรือไม่ และสินค้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายในช่วงเดือนสิงหาคม 2530 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2531 เป็นสินค้าที่มิได้ระบุในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 บัญชีที่ 3 ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ.2517 ดังต่อไปนี้ (ก) เนื้อและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ซึ่งบริโภคได้... (ข) เครื่องปรุงรส กลิ่นหรือสี อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารใด ทั้งนี้เฉพาะที่มิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึกหรือที่มิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหรือหีบห่อ ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก (ค) ... (ง) ... (จ) ผลิตภัณฑ์ อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่ว (ฉ) ... (ช) ... (ซ) ... (ฌ) ... หรือไม่ หากเป็นสินค้าที่มิได้ระบุไว้ในบัญชีดังกล่าว ย่อมได้รับยกเว้นภาษีการค้าและโจทก์มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวแล้วคืนจากจำเลยได้ หากเป็นสินค้าที่ระบุไว้ในบัญชีดังกล่าว ย่อมไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวแล้วคืนจากจำเลย เมื่อบัญชีที่ 1 หมวด 1 ชนิดสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ระบุรายการสินค้าไว้คือ (4) ... ผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ ... เฉพาะที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึกหรือบรรจุภาชนะ หรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้า (10) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่ว เฉพาะที่นำเข้าในราชอาณาจักร และบัญชีที่ 1 หมวด 1 ชนิดสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 133) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ระบุรายการสินค้าไว้คือ (4) (ข) ... ผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ ... เฉพาะที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึก หรือที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก (10) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่ว เฉพาะที่นำเข้าในราชอาณาจักร ดังนี้ หากสินค้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระบุไว้ในรายการดังกล่าวรายการหนึ่งรายการใด ย่อเป็นสินค้าที่ได้ระบุในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาแล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าและไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวแล้วคืนจากจำเลยหาใช่สินค้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายหากมิได้ระบุไว้ในรายการหนึ่งรายการใดแล้วย่อมได้รับยกเว้นภาษีการค้า และมีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยไม่หรือหาใช่สินค้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายหากเป็นสินค้าตามรายการ (ข) ... ผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ เฉพาะที่มิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึก หรือที่มิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก หรือ (จ) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่ว ของมาตรา 5 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 179) พ.ศ. 2529 มาตรา 3 รายการหนึ่งรายการใดแล้วย่อมได้รับยกเว้นภาษีการค้า และมีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวแล้วคืนจากจำเลยไม่ เพราะสินค้าที่จะได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา 5 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54 ) พ.ศ.2517 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 179) พ.ศ. 2529 มาตรา 3 นั้น ลำดับแรกจะต้องเป็นสินค้าที่มิได้ระบุในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 บัญชีที่ 3 ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเสียก่อนหากเป็นสินค้าที่ได้ระบุในบัญชีที่ 1 หรือบัญชีที่ 2 หรือบัญชีที่ 3 รายการหนึ่งรายการใดหรือบัญชีหนึ่งบัญชีใดแล้ว จะถือว่าเป็นสินค้าที่มิได้ระบุในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 และบัญชีที่ 3 หากได้ไม่ นอกจากนี้ แม้จะเป็นสินค้าที่มิได้ระบุในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 และบัญชีที่ 3 รายการหนึ่งรายการใดหรือบัญชีหนึ่งบัญชีใดแล้วยังต้องเป็นสินค้ารายการ (ก) ถึง (ฌ) รายการหนึ่งรายการใดเท่านั้น จึงจะได้รับยกเว้นภาษีการค้า เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วที่จะได้รับยกเว้นภาษีการค้าต้องผลิตในราชอาณาจักรและมิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึกหรือมิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก เป็นต้น มิใช่สินค้าที่มิได้ระบุในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 และบัญชีที่ 3 ซึ่งมีอยู่จำนวนมากกว่าที่ระบุใน (ก) ถึง (ฌ) จะได้รับยกเว้นไปทั้งหมด ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่าสินค้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือที่ผลิตในราชอาณาจักร แม้จะมิใช้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วที่นำเข้าในราชอาณาจักร อันเป็นสินค้าที่มิได้ระบุในบัญชีที่ 1 หมวด 1 (10) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ก็ตาม แต่เมื่อเป็นผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ ที่ บรรจุหีบห่อผนึกที่มีเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็น ได้จากภายนอก อันเป็นสินค้าตามบัญชีที่ 1 หมวด 1 (4) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ 54) พ.ศ.2517 ย่อมเป็นสินค้าที่ได้ระบุในบัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับขายสินค้าดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 57,545,647 บาท คืนจากจำเลย ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

(สุนพ กีรติยุติ - นิเวศน์ คำผอง - สันติ ทักราล)

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021