เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2134/2537 
บริษัท คามานี เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การส่งหรือจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย 
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง ซื้อขาย จ้างทำของ (มาตรา 453, 587)ป.รัษฎากร ภาษีเงินได้นิติบุคคล
อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน ส่งเงินกำไรออกไป (มาตรา 65, 70 ทวิ, 71 (1), 78,
บัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า 4. การรับจ้างทำของ ชนิด (ค)การปลูกสร้าง
หรือการก่อสร้างทุกชนิด)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2513 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เรียกประมูลและประกวดราคาระหว่างประเทศ โดยประมูลซื้ออุปกรณ์และวัสดุต่าง ๆที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างและติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง กับประกวดราคาจ้างเหมาให้ออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบ การติดตั้งเสาไฟฟ้าดังกล่าว โจทก์ชนะการประมูลและประกวดราคา และทำสัญญากับการไฟฟ้าดังกล่าว โจทก์ชนะการประมูลและประกวดราคา และทำสัญญากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2514 ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์จากโจทก์ที่ประเทศอินเดียโดยตรง เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้รับของแล้วก็จะแจ้งให้ธนาคารโลกชำระเงิน ซึ่งธนาคารโลกจำชำระให้แก่โจทก์ที่ประเทศอินเดียโดยตรง ส่วนการดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงตามสัญญานั้น โจทก์ได้จดทะเบียนสาขาโจทก์ในเทศไทยเพื่อดำเนินการนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นระยะ ๆ ตามผลงานที่ทำแล้วเสร็จ ซึ่งโจทก์ได้เสียภาษีการค้าประเภท 4 ชนิด1 (ค)โดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่มากองภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยได้ออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรถึงโจทก์สาขาประเทศไทย แจ้งว่าจะตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์สาขาประเทศไทยสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2514 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2518 ให้ไปชี้แจงประกอบการไต่สวนกับส่งสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี ซึ่งโจทก์สาขาประเทศไทยได้ปฏิบัติตามหมายเรียกดังกล่าวทุกประการ ในการตรวจสอบเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยแจ้งว่าเงินค่าซื้อวัสดุปุปกรณ์ที่ธนาคารโลกจ่ายให้โจทก์ที่ประเทศอินเดีย เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างติดตั้งขอโจทก์สาขาประเทศไทย จึงนำมารวมเป็นรายรับของโจทก์สาขาประเทศไทยแล้วประเมินภาษีการค้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้จากจ่ายการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า 1. ภาษีการค้า ให้ลดเบี้ยปรับลงคงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย 2. ภาษีเงินได้นิติบุคคลจาการดำเนินกิจการ วินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว 3. ภาษีเงินได้บุคคลจากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยให้ลดเงินเพิ่มลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบ เพราะสัญญาระหว่างโจทก์กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์และสัญญาจ้างทำของแยกเป็นสัดส่วนต่างหากจากันจึงไม่ใช่สัญญาจ้างทำขอวงเพียงอย่างเดียว ถ้าจะถือว่าเป็นสัญญาจ้างขอของก็เป็นสัญญาจ้างทำของที่ผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระเองกรรมสิทธิ์ในสัมภาระเป็นของผู้ว่าจ้างก่อนที่โจทก์สาขาประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการติดตั้ง โจทก์ตั้งสาขาประเทศไทย หลังจากทำสัญญาแล้วเพื่อติดตั้งเสาไฟฟ้าไม่เกี่ยวกับการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์การชำระราคาวัสดุอุปกรณ์ก็กระทำโดยธนาคารโลกจ่ายให้โจทก์ในประเทศอินเดียโดยตรง เป็นการจ่ายจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ไม่ใช่จ่ายจากประเทศไทยไปต่างประเทศ โจทก์สาขาประเทศไทยไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย และมิใช่ค่าจ้างทำของ ราคาดังกล่าวจึงไม่ใช่รายรับของโจทก์สาขาประเทศไทย ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวทั้งหมด หรือสั่งให้จำเลยงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า การประเมินทั้งหมดของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้วแต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศอาจจะไม่เข้าใจกฎหมายไทย น่าเชื่อว่าไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงลดเงินเพิ่มให้โจทก์ คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย คำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า เลขที่ 1049/3/03671-03676 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2522 ตามแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1049/3/01486-01489 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2522 คำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 214 ก - ฉ /2532/1 เลขที่ 213 ข-ง /2532/1 และเลขที่ 213 จ/2532/2 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2532 คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "สำหรับในเรื่องภาษีการค้านั้นมีข้อพิจารณาว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.6 เป็นสัญญาซื้อขายเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์กับสัญญารับเหมาติดตั้งรวมกัน ซึ่งทำให้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีสำหรับค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์ และการประเมินไม่ชอบ หรือเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีสำหรับค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์และการประเมินชอบแล้ว เห็นว่าสัญญาดังกล่าว ข้อ 3.2 ระบุหน้าที่ของโจทก์ว่า โจทก์มีหน้าที่จัดหาแรงงานวัสดุ เครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหมดและปฏิบัติทั้งสิ้น กับข้อ 3.3 ระบุว่า การไฟฟ้ามีหน้าที่จ่ายค่าจ้างแรงงาน วัสดุเครื่องมือเครื่องใช้และงานที่โจทก์ทำไป และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 บัญญัติว่า "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ่างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น" ข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นสัญญาจ้างทำของตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวทุกประการ ส่วนการที่ปรากฏว่า นางศรีสอาด วงษ์ทิพย์ พยานจำเลยเบิกความว่าโจทก์ที่ประเทศอินเดียมีโรงงานผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูงจำหน่ายทั่วโลกนั้น" ก็มิได้หมายความว่าผู้ผลิตสินค้าจำหน่ายจำรับจ้างทำของด้วยไม่ได้ ส่วนข้อที่ปรากฏว่าการส่งเสาไฟฟ้าแรงสูงมายังประเทศไทย การไฟฟ้าจะเป็นผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครคิต และดำเนินการต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้ซื้อนั้น ก็ปรากฏว่าค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุปุปกรณ์ในการก่อสร้างครั้งนี้ การไฟฟ้าจะจ่ายจากเงินที่กู้จากธนาคารโลก โดยให้ธนาคารโลกส่งเงินไปให้โจทก์โดยตรงที่ประเทศอินเดีย ฉะนั้นวิธีการปฏิบัติดังกล่าวน่าจะเพื่อให้สามารถแยกราคาค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์ออกไปได้ และเพื่อความสะดวกเท่านั้น หาทำให้สัญญารายพิพาทเป็นสัญญาซื้อขายรวมอยู่กับสัญญาจ้างทำของใหม่ การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีการค้าโดยนำเงินค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์มารวมเป็นค่าจ้างหรือรัยรับจากการค้าประเภท 4 ชนิด 1 (ค) การปลูกสร้างหรือการก่อสร้างทุกชนิดตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ในประมวลรัษฎากร จึงชอบแล้ว

สำหรับในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการดำเนินกิจการนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์จัดตั้งสาขาขึ้นในประเทศไทยเพื่อดำเนินการตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6ซึ่งเข้าลักษณะสัญญาจ้างทำของดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ก็เท่ากับว่าโจทก์เป็นผู้ดำเนินการับจ้างทำของในประเทศไทย วัสดุที่โจทก์ส่งเข้ามาในประเทศไทยจึงเป็นสัมภาระที่โจทก์จัดหามาเพื่อการรับจ้างทำของของโจทก์ ค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวจึงเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการในประเทศไทยของโจทก์ ตามความหมายของประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ส่วนที่การนำเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆเข้ามาได้กระทำโดยการไฟฟ้าสั่งซื้อ และการจ่ายเงินก็ได้ให้ธนาคารโลกจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ประเทศอินเดียโดยตรง ก็เป็นเพราะการไฟฟ้าได้กู้เงินจากธนาคารโลกมาจ่ายเป็นค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์ วิธีการได้วัสดุมาดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลดขั้นตอนและเพื่อความสะดวกบางอย่างเท่านั้น ค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์จึงมิใช่เงินที่การไฟฟ้าซื้อจากโจทก์ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ค่าเสาไฟฟ้าแรงสูง และวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวก็ย่อมรวมอยู่ในค่าจ้างทำของของโจทก์อันได้ดำเนินการในประเทศไทยนั่นเอง เงินจำนวนนี้จึงเป็นรายได้ของโจทก์ที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีด้วย มิใช่นำมาคำนวณเฉพาะค่าติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงดังที่โจทก์อ้าง เมื่อโจทก์มิได้นำเงินจำนวนนี้มาคำนวณในการเสียภาษีด้วย ย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจตรวจสอบภาษีและโจทก์ก็มิได้โต้แย้งในอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีเพียงพอแล้ว จึงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเพื่อหาต้นทุนสินค้าเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1)การประเมินจึงชอบแล้ว

ส่วนเรื่องสุดท้าย เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการส่งเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติลงมาแล้วว่า โจทก์มีกำไร ราคาเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์ที่โจทก์ได้รับนั้นมีกำไรรวมอยู่ด้วย และได้วินิจฉัยมาแล้วว่าเงินค่าเสาไฟฟ้าแรงสูง และวัสดุอุปกรณ์รายนี้เป็นเงินรายได้ของโจทก์จากการประกอบกิจการในประเทศไทย คงมีปัญหาว่าเงินกำไรที่รวมอยู่ในค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์ที่ได้ส่งจากธนาคารโลกซึ่งอยู่ต่างประเทศไทยยังประเทศอินเดียให้โจทก์โดยตรงเป็นการที่โจทก์จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยหรือไม่ เห็นว่า การที่เงินจำนวนนี้ได้ส่งจากต่างประเทศไปให้โจทก์ในประเทศอินเดีย ก็เนื่องจากการไฟฟ้าได้กู้ยืมเงินจำนวนนี้จากธนาคารโลก การกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อความสะดวกเท่านั้น กรณีเท่ากับว่าธนาคารโลกได้ส่งเงินค่าเสาไฟฟ้าแรงสูงและวัสดุอุปกรณ์มาให้การไฟฟ้าในประเทศไทย แล้วการไฟฟ้าผู้ว่าจ้างได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวในสาขาโจทก์ในประเทศไทย และสาขาโจทก์ในประเทศไทยส่งเงินไปยังโจทก์ในประเทศอินเดียนั่นเอง สาขาโจทก์ในประเทศไทยก็คือตัวโจทก์ จึงเท่ากับว่าโจทก์เป็นผู้ส่งหรือจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย กรณีต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ทุกประการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษี โดยคำนวณหากำไรจึงชอบแล้ว"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

(นิเวศน์ คำผอง - ก้าน อันนานนท์ - สะสม สิริเจริญสุข)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021