เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 1532/2537 
กรมสรรพากรโจทก์
บริษัทวารีทิพย์ จำกัดจำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง อำนาจหน้าที่ผู้ชำระบัญชี (มาตรา 1250) พ.ร.บ. ล้มละลาย หนี้ที่อาจกำหนด
จำนวนได้โดยแน่นอน (มาตรา 9(3))

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์ เป็นเงินทั้งสิ้น 584,260.18 บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการประเมิน ภาษีอากรจำนวนดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้วแต่จำเลยมิได้ชำระ ทั้งมิได้ยื่น อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นหนี้ภาษี อากรค้าง เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระรวม 2 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคล ล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว ยังอยู่ในระหว่าง การชำระบัญชี จำเลยไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว คดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะ โจทก์นำมาฟ้องเมื่อเกิน 10 ปีแล้ว ทั้งหนังสือแจ้งการประเมินโจทก์ก็ส่งมา ไม่ชอบเพราะเมื่อจำเลยจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วต้องส่งไปยังผู้ชำระบัญชี แต่โจทก์กลับส่งไปให้กรรมการของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2520 โดยมีนายประยูร สุขสวย เป็นผู้ชำระบัญชี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2520 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหมายเรียกไปถึงผู้จัดการของจำเลยเพื่อ มาให้ถ้อยคำชี้แจงเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีของจำเลย ตามหมายเรียก เอกสารหมาย จ.1 และได้ทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายของจำเลยในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517-2518 รวมเป็นค่าภาษีอากรที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 584,260.18 บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการ ประเมินภาษีอากรบุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและภาษีเงินได้นิติบุคคลไป ให้กรรมการของผู้จัดการของจำเลยทราบ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2523 ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.11 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ออกหมายเรียกและแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กับภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังกรรมการหรือผู้จัดการของจำเลยชอบ หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทตั้งแต่ วันที่ 10 ตุลาคม 2520 โดยมีนายประยูรเป็นผู้ชำระบัญชี ซึ่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่ จำเป็น เพื่อการชำระบัญชี"มาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระ บัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท นั้น" และมาตรา 1259 ยังบัญญัติว่า "ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจ ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1)... (2) ดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือ บริษัทตามแต่จำเป็นเพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี (3)... ดังนั้นเมื่อจำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว ผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจ ดำเนินกิจการของจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าว กรรมการหรือผู้จัดการ ของจำเลยหามีอำนาจดำเนินกิจการของจำเลยอีกต่อไปไม่ การที่เจ้า พนักงานประเมินของโจทก์มีหมายเรียกถึงผู้จัดการของจำเลยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2520 ภายหลังที่จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว เพื่อให้ไปให้ถ้อยคำและชี้แจงเกี่ยวกับภาษีรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517-2518 โดยมิได้มีหมายเรียกไปถึงผู้ชำระบัญชีซึ่งมีอำนาจหน้าที่ จึงไม่ชอบและแม้ผู้จัดการของจำเลยได้มอบอำนาจให้ผู้ชำระบัญชีไปให้ ถ้อยคำชี้แจงต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสาร หมาย จ.3 ก็เป็นการมอบอำนาจที่ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจจะกระทำได้ มาแต่ต้น จึงไม่มีผลแต่อย่างใด และไม่อาจถือได้ว่าผู้ชำระบัญชีได้ทราบ โดยชอบแล้ว ทั้งการที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการ ประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ไปยังกรรมการและผู้จัดการของจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจแล้วก็เป็นการแจ้ง การประเมินโดยไม่ชอบด้วยเช่นกัน ที่โจทก์ฎีกาว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 7 บัญญัติว่า "บรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่น ซึ่งบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องนำยื่นนั้นให้กรรมการหรือผู้ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ" ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นราย การและชำระภาษีในนามจำเลยได้ต้องเป็นกรรมการหรือผู้จัดการเพราะ ประมวลกฎหมายรัษฎากรเป็นกฎหมายพิเศษมิได้บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชี เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแทนในกรณีที่จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว แต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานออกหมายเรียกและมีหนังสือแจ้งการประเมิน ภาษีอากรไปถึงกรรมการและผู้จัดการของจำเลยชอบแล้วนั้น เห็นว่า ตาม บทบัญญัติดังกล่าวที่ให้กรรมการหรือผู้จัดการเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ แทนนิติบุคคลนั้น ย่อมหมายถึงกรรมการหรือผู้จัดการที่ยังมีอำนาจ ดำเนินการแทนโดยชอบอยู่ มิได้หมายความถึงกรรมการหรือผู้จัดการ ที่ไม่มีอำนาจแล้ว กรณีนี้ จำเลยจดทะเบียนเลิกบริษัทและแต่งตั้งผู้ชำระ ต่อไปคือผู้ชำระบัญชี ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ดังที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้รับแจ้ง การประเมินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวแล้ว จำเลยยังไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรได้ จึงถือไม่ได้ ว่าหนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ตาม มาตรา 9(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2493 เพราะอาจถูก เปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ได้ โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้จำนวนดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยเป็น บุคคลล้มละลาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
(กู้เกียรติ สุนทรบุระ - สวิน อักขรายุธ - เสมอ อินทรศักดิ์)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021