เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่490/2543

 

เรื่อง สัญญาประกัน

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องแพ่ง เบี้ยปรับ (มาตรา 383) วิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อที่ไม่ได้ว่ากันในศาลล่าง
(มาตรา 249)วิธีพิจารณาความอาญา ผิดสัญญาประกัน (มาตรา 119)
ป.รัษฎากร (มาตรา 118)

โจทก์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จำเลย นายประเสริฐ จองวิริยะวงศ์ กับพวกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาจำนวน 817,263.17 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 750,207 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาประกันตามฟ้องเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ไม่เคยผิดนัดต่อโจทก์ตามสัญญาประกัน ฝ่ายโจทก์รับตัวผู้ต้องหา จำเลยที่ 1 ได้ขอถอนประกันและขอรับหลักประกันคืน โจทก์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้คืนหลักทรัพย์แก่จำเลยที่ 1 แล้วแต่พันตำรวจตรีประวิทย์ เลขะวณิช ขัดขวางไม่ยอมคืนให้ ซึ่งเป็นการไม่ชอบ เมื่อโจทก์ได้รับตัวผู้ต้องหาไว้แล้ว ยังได้นำไปขอฝากขังต่อศาลและได้ส่งตัวผู้ต้องหาฟ้องต่อศาลจนผู้ต้องหารับสารภาพและได้รับโทษไปแล้วฝ่ายโจทก์จึงมิได้เสียหายอะไร ขอให้ศาลลดค่าปรับ จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 750,207 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เสีย

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์และปัญหาที่ว่าสัญญาประกันมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจะใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าว จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแม้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อย แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่รับวินิจฉัย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.4 กำหนดค่า ปรับสูงเกินไป ไม่เป็นไปตามระเบียบของกรมตำรวจเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า สัญญาประกันดังกล่าวเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นเพื่อเป็นสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาที่ต้องหาว่ากระทำผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ จำนวนเงินตามเช็คคือ 750,207 บาท ในการที่พนักงานสอบสวนตีราคาค่าประกันผู้ต้องหาในคดีอาญานั้น ย่อมเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณา คดีนี้พนักงานสอบสวนตีราคาค่าประกันตัวผู้ต้องหาไม่สูงกว่าจำนวนเงินในเช็คแต่อย่างใด จึงย่อมกระทำได้โดยชอบ ส่วนจะปฏิบัติตามระเบียบของกรมตำรวจหรือไม่ ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้สัญญาประกันเป็นโมฆะเพราะระเบียบของกรมตำรวจมิใช่กฎหมายฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาประกันนั้นโจทก์มี พันตำรวจโทจรัญ ชิตะปัญญา สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจ นครบาลลุมพินีในขณะนั้นและเป็นผู้อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวตามคำร้องขอของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อทำสัญญาประกันแล้วได้นัดให้ผู้ประกันส่งตัวผู้ต้องหาถึง 3 ครั้งโดยจำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้ทราบวันนัดไว้แล้วที่ด้านหลังเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เมื่อถึงกำหนดนัดครั้งแรก ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้นำตัวผู้ต้องหามาส่งพนักงานสอบสวน แต่ขอเลื่อนไปเป็นครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 แล้วก็ส่งตัวผู้ต้องหาไม่ได้เช่นเคย พันตำรวจโทจิรุจจ์ พรหโมบล สารวัตรสืบสวนสอบสวนต่อจากพันตำรวจโทจรัญซึ่งเป็นพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหาตามสัญญา พยานได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือนั้นแล้วตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหาอีกพยานถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกันและแจ้งให้จำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทราบตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ต่อมาพันตำรวจตรีประวิทย์ เลขะวณิช สารวัตรธุรการ ได้ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าปรับไปชำระ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ยังเบิกความยอมรับว่าเอกสารหมาย จ.7 ที่พันตำรวจโทจิรุจจ์แจ้งให้ส่งตัวผู้ต้องหา (ในวันที่ 16 มิถุนายน 2529) นั้น ส่งไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยหนังสือไปถึงในวันที่ 13 มิถุนายน 2529 ก่อนถึงวันนัดส่งตัว 3 วัน ดังนี้จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทราบแล้วตามกฎหมาย แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวน จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกัน ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ได้ผิดนัดสัญญาประกันนั้นไม่มีน้ำหนักรับฟัง ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกันปัญหาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่าจำนวนเงินที่จะต้องใช้ตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาเป็นเบี้ยปรับหรือไม่และศาลมีอำนาจลดจำนวนเงินที่จะต้องใช้ตามสัญญาให้น้อยลงได้หรือไม่นั้น...เห็นว่าสัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว และถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็ตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องถูกปรับให้ใช้เงินตามจำนวนที่ตกลงกำหนดไว้ในสัญญาประกันนั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกันไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนได้ตามกำหนด ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่พนักงานสอบสวนและเกิดความเสียหายแก่การยุติธรรมเป็นส่วนรวมจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.4 ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เมื่อผิดสัญญาประกันจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาลงได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นส่วนปัญหาตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ควรลดค่าปรับลงอีกหรือไม่นั้น เห็นว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาหลายครั้ง แต่จำเลยที่ 1 ส่งตัวผู้ต้องหาไม่ได้ ในที่สุดพนักงานสอบสวน ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาเมื่อจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงยอมรับว่าผู้ต้องหาหลบหนีประกันตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.1 แสดงว่าตั้งแต่ต้นมา ที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจส่งตัวผู้ต้องหาได้ก็เพราะผู้ต้องหาหลบหนีไปนั่นเอง พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแต่จำเลยที่ 1 ก็ยังกล่าวอ้างว่าถูกกลั่นแกล้งเมื่อผิดสัญญาประกันแล้วก็ไม่ชำระค่าปรับตามสัญญา พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าเกิดการเสียหายแก่การยุติธรรมขึ้นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดค่าปรับให้กึ่งหนึ่งนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลดค่าปรับให้อีก ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

(อุดม มั่งมีดี - จเร อำนวยวัฒนา - สุชาติ ถาวรวงษ์)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021