เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3110/2535

 

กรมศุลกากรที่ 1 กรมสรรพากรที่ 2

โจทก์

บริษัทไทย-สวีดิช-แอสเซมบลีย์ จำกัด

จำเลย

เรื่อง ภาษีอากร

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องป. รัษฎากร มาตรา (มาตรา 86 ทวิ, 89 ทวิ) พ.ร.บ.ศุลกากรฯ
(มาตรา 10, 112 ทวิ, 112 จัตวา)

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โจทก์ของจำเลย โดยใช้อำนาจตาม ป.ร.ก. มาตรา 12 เป็นโมฆะและขอให้เพิกถอน เพราะโจทก์มิใช่ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ตามอำนาจของจำเลยว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากรดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ ดังนั้น ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2519 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2510 จำเลยสั่งและนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์วอลโว่จากประเทศสวีเดน รวม 47 ครั้ง จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรตามประเภทพิกัดและอัตราของสินค้า โดยคำนวณจากราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าที่เป็นเครื่องอะไหล่รถยนต์ ซึ่งแสดงรายการและราคาเครื่องอะไหล่รถยนต์ที่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศได้จัดทำขึ้นไว้ต่อกองประเมินของโจทก์ที่ 1 ทั้งนี้โดยจำเลยยอมรับว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของราคาอะไหล่รถยนต์ที่จำเลยสั่งและนำเข้ามาเป็นไปตามบัญชีราคาอะไหล่ดังกล่าว ถ้าอะไหล่รถยนต์ชิ้นใดที่จำเลยสั่งและนำเข้ามาไม่ปรากฏรายการและราคาอยู่ในบัญชี จำเลยจะต้องคำนวณราคาจากราคาที่เป็นส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 75 และถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าจำนวน 47 ฉบับ โดยสำแดงรายการว่าเป็นสินค้าส่วนประกอบรถยนต์ครบชุดสมบูรณ์และสำแดงราคาของสินค้าที่นำเข้าในราคาส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่า สินค้าที่จำเลยนำเข้าเป็นชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ มิใช่ส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์ แต่จำเลยสำแดงรายการเป็นเท็จว่าเป็นชิ้นส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์และสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด กล่าวคือ ต่ำกว่าราคาที่ปรากฏในบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์และมีชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์อีกหลายชนิดที่จำเลยนำเข้าโดยไม่ปรากฏหรือไม่มีในบัญชีราคาอะไหล่ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องสำแดงราคาเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 75 ของราคาส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์ ขอให้บังคับจำเลยชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวมทั้งสิ้น 697,3244.39 บาท และเงินเพิ่มซึ่งคิดถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2528 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้อง คิดเป็นเงินเพิ่มอากรขาเข้าจำนวน 69,523.04 บาท และเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 96,333.37 บาท รวมเป็นเงินอากรค้างชำระและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 1,403,201.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยนำเข้าชิ้นส่วนถอดแยกของส่วนประกอบและอุปกรณ์ครบชุดสมบูรณ์ของรถยนต์นั่งยี่ห้อวอลโว่จากต่างประเทศ เพื่อนำมาประกอบเป็นรถยนต์นั่งสำเร็จรูปยี่ห้อวอลโว่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย จำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์และมิได้ประกอบกิจการซ่อมแซมรถยนต์หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งรถยนต์ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์จากต่างประเทศเมื่อจำเลยประกอบเป็นรถยนต์นั่งสำเร็จรูปแล้ว ได้จำหน่ายให้แก่บริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด ซี่งเป็นผู้จัดจำหน่ายแก่ลูกค้าต่อไปแต่เพียงผู้เดียว และบริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด เป็นผู้สั่งชิ้นส่วนอะไหล่ของรถยนต์นั่งวอลโว่เข้ามาเพื่อซ่อมแซมและจำหน่ายในทางการค้าอันเป็นบริการหลังจากจำหน่ายรถยนต์ให้แก่ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง จำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์ที่ผู้ผลิตในต่างประเทศได้จัดทำขึ้นไว้ต่อกองประเมินอากรของโจทก์ที่ 1 ผู้ที่ยื่นคือบริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด ทั้งไม่เคยยอมรับบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์นั้นว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของชิ้นส่วนถอดแยกของส่วนประกอบและอุปกรณ์ครบชุดสมบูรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ที่จำเลยนำเข้ามิใช่ส่วนเครื่องอะไหล่รถยนต์ที่นำเข้ามาจำหน่ายในสภาพเดิม หรือใช้ทดแทนสับเปลี่ยนชิ้นส่วนรถยนต์ที่สึกหรอหรือเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งานอันจะต้องเสียภาษีอากรตามที่โจทก์อ้าง แต่เป็นชิ้นส่วนที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของรถยนต์สำเร็จรูปที่จำเป็นสนการประกอบเพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานที่ดีชุดสมบูรณ์ของรถยนต์วอลโว่ทั้งคัน เหตุที่ชิ้นส่วนที่จำเลยนำเข้ามาบางรายการไม่ปรากฏหรือไม่มีรายการและราคาอยู่ในบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์เนื่องจากชิ้นส่วนเหล่านั้นมิใช่อะไหล่ ซึ่งจะปรากฏรายการและราคาในบัญชีชิ้นส่วนถอดแยกของส่วนประกอบและอุปกรณ์ครบชุดสมบูรณ์ที่จำเลยยื่นไว้ต่อโจทก์ที่ 1 และกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นจำเลยจึงต้องเสียภาษีอากรตามราคาที่บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเรียกเก็บอันเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเหตุที่จำเลยต้องสั่งชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาตามใบขนสินค้าทั้ง 47 ฉบับเนื่องจากชิ้นส่วนที่จำเลยเคยสั่งเข้ามาเพื่อประกอบเป็นรถยนต์นั่งสำเร็จรูปเดิมเกิดความชำรุด ส่งมาไม่ครบจำนวน ผิดพลาด เสียหายหรือสูญหายในระหว่างขนส่งทางเรือหรือในระหว่างการผลิตหรือประกอบรถยนต์ จึงจำเป็นต้องสั่งเข้ามาทดแทนเพื่อจะได้ทำการประกอบรถยนต์ตั่งสำเร็จรูปให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ มิได้สั่งเข้ามาเพื่อจะซ่อมแซมรถยนต์ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้จัดเก็บภาษีอากรในขณะที่จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องแล้วและเป็นการผูกพันโจทก์ทั้งสองทั้งโจทก์ไม่เคยประเมินหรือแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าภาษีอากรที่ค้างชำระเพราะกรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาและประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกเงินค่าอากรเนื่องจากคำนวณจำนวนเงินอากรผิด ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตามมาตรา 19 และมาตรา 88 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร คดีโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรค้างชำระ 697,344.39 บาทและเงินเพิ่มอากรขาเข้าจำนวน 609,923.04 บาท รวมเป็นค่าภาษีอากรทั้งสิ้น 1,403,201.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละครึ่งต่อปีในต้นเงินภาษีอากรที่ค้างชำระ 697,344.39 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า สินค้าที่จำเลยนำเข้ามานั้น จำเลยได้ชำระภาษีอากรถูกต้องแล้วหรือไม่ ปัญหานี้ข้อที่โจทก์จำเลยนำสืบโต้แย้งกันก็คือ สินค้าที่จำเลยนำเข้าทั้ง 47 ครั้งนั้น จะต้องเสียภาษีอากรในราคาของสินค้าที่นำเข้า แบบ ซี.เค.ดี. หรือจะต้องเสียภาษีอากรในราคาของอะไหล่ ส่วนจำนวนและราคาของที่คิดในราคาแบบ ซี.เค.ดี. และในราคาอะไหล่นั้น จำเลยมิได้นำสืบหักล้างตามที่โจทก์นำสืบมา จำเลยนำสืบว่า ของที่นำเข้ามานั้นเป็นเป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดและที่ชำรุดเสียหายจากการที่จำเลยนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. ครั้งก่อนจำเลยจึงได้คิดราคาของในการนำเข้าทั้ง 47 ครั้ง ตามราคาแบบ ซี.เค.ดี. ศาลฎีกาได้พิจารณาตัวสินค้าตามรายการที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้าและใบกำกับสินค้าที่จำเลยนำเข้าแล้ว ตัวสินค้าแต่ละรายการที่นำเข้ามานั้นมาแสดงให้เห็นว่าตามสภาพของตัวสินค้าที่ปรากฏทุกรายการล้วนเป็นส่วนประกอบที่นำมาใช้เป็นอะไหล่รถยนต์ทั้งสิ้น และเมื่อรวมส่วนประกอบที่จำเลยนำเข้าในแต่ละคราวนั้น เห็นได้ว่าไม่สามารถนำมาประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ทั้งคัน ดังนั้น ในสภาพของตัวสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาจึงเข้ามาในลักษณะที่เป็นอะไหล่รถยนต์ ข้อเท็จจริงยุติว่าสินค้าชนิดเดียวกันถ้านำเข้ามาในลักษณะที่เป็นอะไหล่ในการคิดราคาเพื่อเสียภาษีอากรจะต้องเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 75 ของราคาชิ้นส่วนที่นำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. ซึ่งในการนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. นั้นทางการได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าผู้นำเข้าจะได้สิทธิคิดราคาเพื่อเสียภาษีอากรแบบ ซี.เค.ดี. ได้จะต้องมีการขออนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ก่อน เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวอนุมัติแล้วจึงจะนำเข้าแบบซี.เค.ดี. ได้ เช่นนี้ กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าจะต้องมีการพิจารณจากคณะกรรมการก่อนว่าจะเป็นการนำเข้ามาเพื่อประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปตามที่ได้รับการส่งเสริมดังนั้น การที่จำเลยนำเข้าสินค้าทั้ง 47 ครั้ง ที่พิพาทโดยไม่ขออนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ก่อน เช่นนี้ เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการนำเข้าสินค้าตามที่ตนได้รับการส่งเสริม อันจะทำให้ได้สิทธิเป็นการนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. กรณีจึงถือว่าจำเลยนำเข้าสินค้าดังกล่าวตามลักษณะของผู้นำเข้าทั่ง ๆ ไป ในข้อนี้จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดจำหน่ายรถยนต์นั้น ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายว่าจำเลยจะนำเข้าอะไหล่รถยนต์ไม่ได้ นำข้าสืบของจำเลยที่ว่า เป็นการนำเข้ามาทดแทนชิ้นส่วนที่ขาดและชำรุดนั้น เป็นการกล่าวอ้างถึงเรื่องภายในของจำเลยที่เจ้าหน้าที่ไม่อาจรู้ได้ในเมื่อจำเลยมีสิทธิที่จะนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. ในกรณีที่ชิ้นส่วนขาดหรือชำรุดจำเลยสามารถนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. ได้โดยขออนุมัติจากคณะกรรมการก่อนการที่จำเลยนำเข้าโดยไม่ขออนุมัติคณะกรรมการตามเงื่อนไขที่ได้รับการส่งเสริมจึงจะถือว่าเป็นการนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. ตามที่ตนได้รับการส่งเสริมย่อมไม่ได้ เพราะถ้าสามารถให้ทำได้ดังที่จำเลยอ้างแล้ว ก็จะมีการนำเข้าโดยไม่มีข้อจำกัดทำให้รัฐต้องสูญเสียอากรที่ควรจะได้ เมื่อสภาพสินค้าที่จำเลยนำเข้านั้นเป็นรูปของอะไหล่และถือไม่ได้ว่าเป็นการนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. การเรียกเก็บภาษีอากรก็ต้องเก็บตามสภาพที่นำเข้ามา คือเก็บในราคาตลาดแบบอะไหล่ การที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าว่าเป็นสินค้าในราคาแบบ ซี.เค.ดี. จึงเป็นการสำแดงเท็จ การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 เรียกเก็บภาษีอากรตามที่จำเลยสำแดงเท็จไว้โดยเข้าใจผิดคิดว่าจำเลยสำแดงตรงตามความจริงนั้นไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระภาษีอากรตามสภาพของสินค้าที่แท้จริงได้ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 แจ้งให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มโดยคำนวณจากราคาของสินค้าที่เป็นอะไหล่ และราคาสินค้าที่คิดแบบอะไหล่ในส่วนที่มีราคาตามบัญชีเอกสารหมาย จ.1 และ จ.9 ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธว่าราคาอะไหล่ตามที่กำหนดในบัญชีนั้นมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ส่วนอะไหล่บางรายการที่ไม่มีราคาอยู่ในบัญชีดังกล่าวเจ้าพนักงานของโจทก์ก็คิดราคาเพิ่มขึ้นอีก 75 เปอร์เซ็นต์ ของราคา ซี.เค.ดี. ที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงจากการนำสืบได้ความว่าราคาชิ้นส่วนที่เป็นอะไหล่นั้นจะสูงกว่าราคา ซี.เค.ดี.ประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ เจ้าพนักงานของโจทก์กำหนดราคาเพิ่มเพียง 75 เปอร์เซ็นต์เพื่อการคำนวณภาษีอากร จึงเป็นการคำนวณภาษีอากรที่เป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้วทั้งจำนวนเงินภาษีอากรที่เจ้าพนักงานของโจทก์คำนวณมานั้น จำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าคำนวณไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยจึงต้องชำระภาษีอากรเพิ่มตามจำนวนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ส่วนที่จำเลยอ้างมาในฎีกาถึงเอกสารที่ผู้ส่งสินค้าเข้ามาให้จำเลยสำหรับใบขนส่งสินค้าบางฉบับว่าผู้ส่งสินค้าหรือผู้ขายมิได้คิดราคาสินค้าเพราะส่งมาทดแทนสินค้าที่ชำรุดเสียหายนั้นก็มิใช่กรณีที่จำเลยมิต้องเสียภาษีอากรตามราคาตลาดสำหรับสินค้าที่ระบุไว้ดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยจะต้องชำระภาษีอากรเพิ่มแล้วจำเลยไม่ชำระตามกำหนดเวลา โจทก์จึงมีสิทธิคิดเงินเพิ่มได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาและประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ซึ่งการเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมมาตรา 112จัตวานั้น มิใช่จะเรียกได้เฉพาะกรณีที่มีการวางประกันค่าอากรตามมาตรา 112 ทวิตามที่จำเลยฎีกามาเท่านั้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าถ้าวางประกันก็เรียกเก็บเพิ่มได้ แต่ถ้าไม่มีการวางประกันกลับเรียกเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ ซึ่งกฎหมายคงไม่ประสงค์จะให้เกิดผลผิดปกติเช่นนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มและเงินเพิ่มตามบทกฎหมายที่ได้อ้างถึงนั้นเป็นการชอบแล้ว

จำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า จำเลยมิได้รับแจ้งการประเมินนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่า เจ้าพนักงานของโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 2521 ตามเอกสารหมาย จ.8 ให้จำเลยดำเนินการพิธีการศุลกากรเพื่อชำระอากรให้ครบถ้วน แต่จำเลยได้มีหนังสือโต้แย้งไปยังเจ้าพนักงานของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.30 และต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 ว่าข้อโต้แย้งของจำเลยฟังไม่ขึ้น ให้จำเลยนำค่าภาษีอากรที่ขาด จำนวน 901,918.52 บาท ไปชำระตามกำหนดเวลา เห็นว่าการแจ้งประเมินตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 นั้น มิได้มีการกำหนดแบบนำค่าภาษีอากรที่ขาดไปชำระเป็นจำนวนเท่าใดภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้มิฉะนั้นจะดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป เช่นนี้ ถือเป็นการแจ้งประเมินให้จำเลยทราบแล้ว

จำเลยฎีกาในข้อสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้นได้ความตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าจำเลยสำแดงราคาของที่นำเข้าผิดสภาพของสินค้าโดยนำเข้ามาอย่างอะไหล่ แต่สำแดงราคาเป็นสินค้านำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. อันเป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของโจทก์ที่ 1 จะเรียกอากรที่ขาดเพราะเหตุเกี่ยวกับราคาของที่จำเลยนำเข้าจึงมีอายุความ 10 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสองตอนแรก มิใช่กรณีที่มีการคำนวณจำนวนอากรผิดอันจะมีอายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยฎีกา สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้น เมื่อกรณีของจำเลยมีการแสดงรายการเท็จโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินให้จำเลยเสียภาษีอากรส่วนที่ขาดได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (2) จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มในปี 2519 เจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งประเมินให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มในปี 2524 และฟ้องคดีเมื่อปี 2528 อยู่ในกำหนดระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

แต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินอากรที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นนั้น ในเรื่องอากรที่ค้างชำระนั้นได้มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 จัตวา และประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ให้ผู้ค้างชำระภาษีต้องเสียเงินเพิ่มเติมอัตราที่กำหนดไว้ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระในกรณีที่มีการค้างชำระเงินภาษีอากรจึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มตามบทกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษนี้ จะเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องทั่วไปไม่ได้ ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินอากรที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอันเป็นการให้ชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเป็นสมความแก้ไขในส่วนนี้"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ที่ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

(อุดม เฟื่องฟุ้ง - ก้าน อันนานนท์ - สุชาติ สุขสุมิตร)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 31-01-2021