เมนูปิด

                      คำพิพากษาฎีกาที่  5521/2534

 

                      นายสนิท วัฒนาการ ผู้จัดการมรดกนายจรูญ วัฒนาการ ...........โจทย์

 

                     กรมสรรพากร.................................................................จำเลย

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2), 42(9) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง&มาตรา 23

 

                    กำหนดเวลาให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ภายใน 30 วัน ตาม ป.ร.ก. มาตรา 30 (2) เป็นการกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ และถึงแม้ไม่ได้เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ แต่เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ใน ป. ร.ก. ศาลมีอำนาจขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้

                    ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยฟ้องโจทก์ให้ชำระหนี้ภาษีอากรกรณีเดียวกันนั้น ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษายกฟ้อง ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า การประเมินชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แต่ขณะที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงไม่อาจยื่นฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ อีกทั้งโจทก์ก็ยังไม่มีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล เพราะในขณะนั้นคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่โจทก์ไม่อาจขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่ศาลพึงขยายระยะเวลาให้โจทก์ได้

                    เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ อันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตาม ป.ร.ก. มาตรา 42 (9) นั้น ต้องเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางค้าหรือหากำไร แสดงว่าต้องพิจารณาเจตนาของผู้ได้มาในขณะได้มาว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ การที่ จ. ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 แล้วทิ้งไว้นานจนถึงปี พ.ศ. 2523 จึงได้ขายไปโดยไม่ปรากฏว่า จ. ได้ปรับปรุงสภาพที่ดินให้ดีขึ้นอันเป็นปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนามุ่งในทางค้าหรือหากำไรพึงกระทำ และเหตุที่ จ. ซื้อที่ดินมาก็เพื่อหักหนี้ที่สามีของผู้ขายค้างชำระอยู่ส่วนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า จ. ซื้อที่ดินมาโดยมิได้มุ่งในทางค้าหรือหากำไร เมื่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวไปย่อมได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำเงินได้ในส่วนนี้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ปรับปรุงล่าสุด: 20-06-2011