เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่5396/2534

 

สมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6

โจทก์

สรรพากรจังหวัดกำแพงเพชร กับพวก

จำเลย

กฎหมายที่เกี่ยวข้องป.รัษฎากร มาตรา 40 (8), 65 ตรี (13 )พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธี
พิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 33

เงินที่โรงงานน้ำตาลหักจากน้ำหนักอ้อย ที่ชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมโจทก์ขายให้แก่โรงงานน้ำตาลตามข้อบังคับของโจทก์แล้วส่งมาให้โจทก์นั้น มิใช่เงินที่ชาวไร่อ้อยสมาชิกของโจทก์ยินดีมอบให้แก่ฝ่ายเดียว อันจะเป็นการบริจาคหรือให้โดยเสน่หาแก่โจทก์ หากแต่เป็นเงินที่ถูกหักตามข้อบังคับของโจทก์เพื่อผลตอบแทนทางธุรกิจ อันเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40 (8) แห่ง ป.ร.ก. จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องมารวมคำนวณเป็นรายได้ของโจทก์ ตามมาตรา 65 ทวิ (13) และเงินที่โจทก์ได้รับจากสหกรณ์ ก็เป็นเงินที่โรงงานได้หักเงินค่า อ้อยของชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์แล้วส่งเงินไปให้โจทก์ ทำนองเดียวกับเงินที่โจทก์ได้รับจากสมาชิก จึงถือไม่ได้ว่าเงินได้จากสหกรณ์ดังกล่าว เป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากการรับบริจาค หรือให้โดยเสน่หาอันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ เพื่อเสียภาษีตามมาตรา 65 ทวิ (13) เช่นเดียวกัน
สิ่งที่ไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ ตาม ป.ร.ก. มาตรา 65 ทวิ (13) มีอยู่ 3 ประเภท คือ (1) เงินค่าลงทะเบียน (2) เงินค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก (3) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หา โดยเป็นเงินหรือทรัพย์สินคนละประเภทแยกจากกัน โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า "เงินค่าบำรุงที่โจทก์ได้รับเป็นเงินที่สมาชิกบริจาคหรือให้โดยเสน่หา" ย่อมมีความหมายเพียงว่า เงินที่สมาชิกบริจาคหรือให้โดยเสน่หาเพื่อเป็นการบำรุงกิจการของโจทก์ อันเป็นเงินที่จัดอยู่ในประเภทที่ 3 เท่านั้น มิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนนี้เป็น "เงินค่าบำรุง" ด้วย ทั้งตามข้อบังคับของสมาคมโจทก์ได้ระบุค่าบำรุงปีละ 50 บาท ไว้แล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องเงินค่าบำรุง การที่จำเลยให้การปฏิเสธว่า เงินได้พิพาทไม่ใช่เงินที่โจทก์ได้รับจากการรับบริจาคหรือการให้โดยเสน่หาแต่เป็นเงินได้ ตามมาตรา 40 (8) แห่ง ป.ร.ก. จำเลยย่อมมีสิทธิสืบพยานได้ตามประเด็นที่ให้การต่อสู้ไว้

 

ปรับปรุงล่าสุด: 31-01-2021