เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 3550/2528 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด สิหนาทก่อสร้างโจทก์
กรมสรรพากร กับพวกจำเลย
โจทก์ได้ทำสัญญาให้เช่าตึกแถวมีกำหนด 18 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่าเป็นต้นไป โดยได้รับเงิน กินเปล่าและได้เฉลี่ยเงินกินเปล่าตามส่วนแบ่งจำนวนปีของอายุการเช่าโดยเฉลี่ยเป็นปีแล้วนำเงินเฉลี่ย ดังกล่าวไปคำนวณเป็นเงินได้สุทธิของโจทก์เพื่อเสียภาษีเป็นรายปีตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง "ผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์ไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วน" ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2499 และได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ของโจทก์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2522
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่กระทรวงการคลังออกประกาศดังกล่าวก็เพื่อขจัดปัญหาผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น เงินกินเปล่าหลีกเลี่ยงไม่ยื่นรายการเงินได้จากเงินกินเปล่า โดยผ่อนปรนยอมให้ผู้ให้เช่า เฉลี่ยเงินกินเปล่าตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าเพื่อเสียภาษีแทนที่จะนำเงินกินเปล่าทั้งหมดไปคำนวณเพื่อเสียภาษีครั้งเดียวซึ่งทำให้ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านผู้เสียภาษี และเพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะเป็นเหตุจูงใจให้ผู้ให้เช่าที่มีรายได้จากเงินกินเปล่ามายื่น รายการเพื่อเสียภาษีเงินได้มากรายยิ่งขึ้น กรณีนี้ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นรายการเงินได้จากเงินกินเปล่าในอัตราเฉลี่ยเป็นรายปีมาถึง 2 ปีแล้ว (พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2523) แสดงว่าเจ้าพนักงานประเมินอนุญาตใด้โจทก์ยื่นรายการเงินได้เพื่อเสียภาษีตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว จะมาอาศัยอำนาจ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ทวิ บังคับโจทก์โดยประเมินเรียกเก็บภาษีโจทก์ล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการเงินได้ โดยอ้างว่าโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่มีความแน่นอนว่าจะสิ้นสภาพนิติบุคคล หรือเลิกประกอบกิจการเมื่อใด จะมีความสามารถในการเสียภาษีอากรตลอดไปหรือไม่ ระยะเวลา การเสียภาษีตามอายุสัญญาเช่ายาวนานถึง 16 ปี ไม่มีหลักประกันแน่นอนเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของโจทก์ ในการเสียภาษี จึงถือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจที่จะประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ก่อนถึงระยะเวลายื่นรายการได้นั้น เห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยไม่ถือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรเพราะเป็นเรื่องสถานภาพของโจทก์ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวใช้คำว่า "ผู้ให้เช่า" ย่อมหมายรวมทั้งบุคคลและนิติบุคคลด้วย และหากจะถือเป็นกรณีจำเป็น เจ้าพนักงานประเมินย่อมจะไม่ยอมให้โจทก์ยื่น รายการเงินได้จากเงินกินเปล่าในอัตราเฉลี่ยเป็นรายปีแล้วนั้น ย่อมจะประเมินเรียกเก็บภาษีจากเงินกินเปล่านั้น ทั้งหมดเพียงครั้งเดียว และกรณีจำเป็นจำต้องเป็นเรื่องอื่น เช่น ปรากฏตามงบดุลของโจทก์ว่าค้าขายขาดทุนเป็นเงินจำนวนมากและเจ้าหนี้หลายรายกำลังจะฟ้องบังคับชำระหนี้เป็นต้น ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังที่เจ้าพนักงานประเมินอนุญาตให้โจทก์เฉลี่ยเงินกินเปล่าเสียภาษีเป็นรายปีตามประกาศกระทรวงการคลังแล้ว
 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 23-01-2021