เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2785/2528 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิษณุกรโจทก์
กรมสรรพากร กับพวกจำเลย
แม้โจทก์จะได้ยื่นแบบรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.5) แล้วก็ตาม แต่ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ได้บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินไว้ว่า ถ้าภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ยื่นรายการ เจ้าพนักงานมีเหตุอันควรเชื่อว่า รายการที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวน กับสั่งให้ผู้ยื่นรายการนำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นมาแสดงได้ โดยไม่จำต้องอ้างหรือแจ้งเหตุอันควรเชื่อตามกฎหมายบัญญัติ เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานประเมินไต่สวนหรือตรวจสอบได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
และที่จำเลยยอมให้คิดหักค่าสังกะสีสำหรับปี 2516, 2517 ร้อยละ 30 เพราะใน 2 ปีดังกล่าวนั้นโจทก์รับเหมาก่อสร้างอาคารโรงเรียนซึ่งจำต้องใช้สังกะสีมาก แต่งานของโจทก์ในปี 2518, 2519 เป็นงานรับเหมา ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้นทุนวัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้จึงได้แก่ เหล็กเส้น ปูน กรวด ทราย และไม้แบบมิใช่สังกะสี ที่จำเลยยอมให้คิดหักค่าสังกะสีร้อยละ 10 ก็โดยอาศัยจากคำให้การของผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ ที่ได้ให้การไว้ว่าค่าสังกะสีไม่เกินร้อยละ 10 ของต้นทุนวัสดุก่อสร้าง แต่ที่โจทก์นำเอาค่าสังกะสีมาคิด หักเกินกว่าความเป็นจริงก็เพื่อชดเชยกับค่าวัสดุบางอย่างซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ ดังนั้นส่วนที่เกินจึงมิใช่รายจ่าย เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น ในปี 2518 โจทก์คิดหักค่าสังกะสีเกินไป 386,549.92 บาท เงินที่หักเกินไปนี้จะต้องนำเอาไปรวมกับกำไรสุทธิของโจทก์ตาม ภ.ง.ด.5 และเมื่อหักเงินขาดทุนสะสมแล้วในปี 2518 โจทก์จะมีกำไรสุทธิ 413,044.54 บาท ส่วนในปี 2519 โจทก์คิดหักค่าสังกะสีเกินไป 1,733,889.32 บาท เมื่อนำไปรวมกับกำไรสุทธิตาม ภ.ง.ด.5 จะเป็นกำไรสุทธิของโจทก์ในปี 2519 จำนวน 1,883,702.99 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจที่จะแก้จำนวนเงินที่ประเมินโดยอาศัยมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากร และโจทก์จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่ต้องเสียเพิ่มตามมาตรา 22
 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 23-01-2021