เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2183/2528 
เรื่อง รับสภาพหนี้ 
กฎหมายที่เกี่ยวข้องสำคัญ, อายุความ, รับสภาพหนี้, ผิดนัดหนี้, ค่าเสียหายหนี้, คู่ความ, ครอบครัว,
สินสมรส, หนี้ร่วม, กองมรดก, รับผิดเกินกว่าที่ตกทอด, โมฆะ, เพิกถอนการฉ้อฉล
ต.เป็นเลขานุการกรมโจทก์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลการรับจ่ายเก็บรักษาเงินของทางราชการให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เมื่อเงินของโจทก์ขาดหายไปย่อมแสดงว่า ต. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด ปล่อยปละละเลยมิได้ตรวจสอบสมุดบัญชีเงินสดและสมุดบัญชีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมิได้ตรวจเงินคงเหลือประจำวัน ตลอดจนเอกสารหลักฐานการเงินต่าง ๆ ซึ่ง ต. คงรู้อยู่แก่ใจว่าตนปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องคดี ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์แล้ว ต. จึงได้ทำหนังสือรับสารภาพหนี้ขึ้น แสดงว่า ต.หาได้สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมแต่อย่างใดไม่ ต. จึงต้อง รับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้น
เมื่อ ต. ถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นทายาทต้องรับผิดชดใช้หนี้ให้โจทก์และเมื่อโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมชำระหนี้จำเลยในฐานะย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัดและต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า ก่อนตาย ต. มีที่ดินและรถยนต์พิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่ ต. กับจำเลยที่ 1 ยกทรัพย์พิพาทให้ผู้อื่นไปเสีย เป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเพื่อให้ทรัพย์ ดังกล่าวกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ต. และจำเลยที่ 1 ตามเดิม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาท ในฐานะผู้รับมรดกของ ต. ให้รับผิดต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ.ม.1599 และ 1600 จำเลยก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ม.1601
บิดาจำเลยที่ 1 ยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 เมื่อสมรสกับ ต. แล้ว และการยกให้มิได้ระบุว่าให้เป็น สินส่วนตัว ดังนี้ ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสตามป.พ.พ. ม.1466 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยกให้ ต. จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทครึ่งหนึ่ง แม้ที่พิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 ในโฉนดแต่ผู้เดียวการที่ ต. ให้ความยินยอม ให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทอันเป็นสินสมรถให้แก่บุตรโดยเสน่หา ในขณะที่ตนมีหนี้ซึ่งไม่สามารถชำระ ให้หมดไปได้ในขณะยังมีชีวิตอยู่ย่อมเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เพราะไม่มีทรัพย์อื่นของลูกหนี้ที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ ศาลเพิกถอนการโอนได้
หนี้ที่ ต.ทำสัญญารับสภาพหนี้ แม้จะเป็นหนี้ซึ่งก่อขึ้นในระหว่างสมรสของ ต. และจำเลยที่ 1 แต่มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ม.1482 เดิม หรือ ม.1490 ที่บัญญัติใหม่ จึงมิใช่หนี้ร่วมที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดด้วย
 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 23-01-2021