เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 4586/2546 
บริษัท พัทยาบีชคอนโด (1998) จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่องการยื่นแบบแสดงรายการและการเสียภาษี
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร 87(1)(2) และ 87 ทวิ

ประเด็นข้อ 1. โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีการค้าเดือนมีนาคม 2534 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการซื้อขายอาคารชุด ซึ่งตามปกติโจทก์ จะต้องไปยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการค้าที่สถานประกอบการค้าโจทก์ตั้งอยู่คืออำเภอบางละมุง แต่โจทก์อ้างว่ามีเหตุฉุกละหุกไปยื่นที่อำเภอบางละมุงไม่ทัน จึงไปยื่นและชำระภาษีการค้าเป็นเงินสดที่กองคลัง กรมสรรพากร แทน โจทก์ไม่มีพยานเอกสารอื่นใดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการยื่นแสดงรายการและชำระภาษีการค้าแล้วมาแสดง ซึ่งทางจำเลยที่ 1 ก็ได้พยายามตรวจค้นหาหลักฐานให้โจทก์ด้วยแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีในเดือนมีนาคม 2534 เลย และที่โจทก์ได้นำรายจ่ายภาษีการค้าดังกล่าวไปลงบัญชีในวันที่ 15 เมษายน 2534 ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 13 นั้น เห็นว่า รายการที่ระบุว่าจ่ายค่าภาษีการแก้ไขรายการอื่นๆ อีกหลายรายการโดยไม่มีการลงชื่อกำกับไว้เป็นพิรุธ น่าสงสัยไม่อาจรับฟังเป็นความจริงตามที่โจทก์อ้างได้

ประเด็นข้อ 2. โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเดือน เมษายน 2535 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีแต่คำเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานเอกสารใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีการยื่นเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในเดือน เมษายน 2535 เลย ทั้งปรากฏจากคำเบิกความของนายเสวี พยานโจทก์ว่า โจทก์มิได้นำรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไปลงบัญชีเงินสดของโจทก์แต่ประการใด พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์นำสืบมานั้นมายังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเดือน เมษายน 2535

ประเด็นข้อ 3. เจ้าพนักงานประเมินถือรายรับตามราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในวันโอนเป็นฐานในการคำนวณภาษีอการค้าชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร และบัญชีอัตราภาษีการค้าที่ใช้บังคับอยู่ในปี 2534 จะกำหนดให้ผู้ประกอบการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์มีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับดังกล่าวจะต้องเป็นรายรับที่แท้จริง และเป็นรายรับที่สมควรที่จะได้รับตามปกติจากการค้าอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เมื่อปรากฏจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมายเลข 1 แผ่นที่ 139 รายการที่ 10 จะเห็นได้ชัดเจนว่าราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์ทำกับลูกค้าจะมีราคาสูงกว่าราคาตามสัญญาซื้อขายที่จดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน การกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาที่จะปกปิดราคาอันแท้จริงที่โจทก์ขายห้องชุดให้แก่ลูกค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี จึงน่าเชื่อว่า ราคาขายห้องชุดของโจทก์ตามสัญญาซื้อขายซึ่งจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินมิใช่ราคาขายที่แท้จริง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดตามที่วินิจฉัยในข้อที่ 1 ว่า โจทก์มิได้ยื่นแบบรายการและเสียภาษีการค้าเดือน มีนาคม 2534 ประกอบกับโจทก์มีเจตนาที่ปกปิดราคาขายอันแท้จริงของห้องชุดด้วยแล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87(1)(2) และ มาตรา 87 ทวิ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยกำหนดรายรับของโจทก์ขั้นใหม่ตามมูลค่าที่โจทก์พึงได้รับ ตามราคาประเมินของกรมที่ดินที่ใช้เก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีอากรค้าได้ เพราะถือได้ว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นราคาตลาดที่โจทก์ควรจะขายได้ตามความเป็นจริง ส่วนราคาที่โจทก์อ้างว่าขายให้แก่ผู้ซื้อนั้นมิใช่เป็นราคาซื้อขายจริงและเป็นราคาต่ำกว่าราคาตลาด ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานประเมินถือรายรับตามราคาประเมินที่ใช้อยู่ในวันโอนมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีอากรค้าจึงชอบแล้ว

ประเด็นข้อ 4. ในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะตามฟ้องเจ้าพนักงานประเมินถือรายรับตามราคาประเมินที่ใช้อยู่ในวันโอนเป็นฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะชอบหรือไม่ เห็นว่าเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในขณะจดทะเบียนโอนขายอาคารชุดนั้นทางสำนักงานทะเบียนที่ดินเก็บค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์โดยคิดคำรวณจากราคาประเมินของกรมที่ดินที่ใช้จัดเก็บค่าธรรมเนียมสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้ในขณะนั้นโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังปรากฏว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะเดือนเมษายน 2535 ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ฉะนั้น เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจที่จะประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มโดยกำหนดรายรับของโจทก์จากการขายอาคารชุดที่โจทก์ควรจะได้รับหรือควรจะขายได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/15 และ 91/16 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินก็ได้ประเมินโดยถือเอารายรับตามราคาประเมินที่ใช้อยู่ในวันโอนทางทะเบียนมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะจึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนจำเลยทั้งห้า โจทก์ คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของผู้บริหารและพนักงานไม่ถูกต้อง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021