เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 422)
พ.ศ. 2547
--------------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2547
เป็นปีที่ 59 ในรัชกาลปัจจุบัน
                พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                 โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี

                 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

                 มาตรา  1   พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 422 ) พ.ศ. 2547”

                 มาตรา  2   พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                 มาตรา  3   ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าของสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาในระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หน่วยงานที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่และวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและการวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและสมาคมและมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยทางการศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                 มาตรา  4   ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ  :-   เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บัญญัติให้รัฐต้องให้การสนับสนุนด้านเงินอุดหนุน การลดหย่อนหรือการยกเว้นภาษีและสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ในทางการศึกษาแก่สถานศึกษาเอกชนตามความเหมาะสม ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวและนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา สมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าที่นำเข้าสำหรับสถานศึกษาและหน่วยงานที่มีหน้าที่และวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ.ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 61 ก วันที่ 11 ตุลาคม 2547)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022