เมนูปิด

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 201 (พ.ศ. 2539)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  กำหนดให้เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่ม เติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496

 

                ข้อ 2  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2539

 

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

___________________________________________________________________

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ เนื่องจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรีเป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เพาะปลูกเขตลุ่มน้ำป่าสัก และบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำป่าสัก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยโครงการฯ ได้ดำเนินการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับราษฏรผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยตรง ซึ่งราษฏรดังกล่าวจะต้องรับภาระเสียภาษีเงินได้จากเงินค่าตอบแทนที่ได้รับ ฉะนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้การดำเนินโครงการฯ สำเร็จโดยรวดเร็ว อันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับราษฏรซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ของโครงการฯ ซึ่งให้ความร่วมมือในการตกลงขายอสังหาริมทรัพย์ให้กับทางราชการตามโครงการดังกล่าว สมควรยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหา-ริมทรัพย์ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

(ร.จ.ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 113 ตอนที่ 12 ก วันที่ 24 เมษายน 2539)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022