เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่4389/2547 
บริษัท ภูเก็ตสหไม้ไทย จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และหนังสือแจ้งการประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากรมาตรา 20, 34 และมาตรา 86/4 (2 )(3) พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง มาตรา 3 และมาตรา 37

มาตรา 86/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า ใบกำกับภาษีต้องมีรายการ ชื่อที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี แต่ใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์นำมาคำนวณภาษีขายโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ออก ผู้ขายสินค้าให้แก่โจทก์เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีดังกล่าว จึงเป็นกรณีตามมาตรา 86/4(3) คือต้องมีรายการชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าเท่านั้น เมื่อโจทก์มีที่อยู่จริงตรงตามที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์นำมาคำนวณหักภาษีขาย แม้จะไม่ตรงกับที่อยู่ตามที่จดทะเบียนตั้งบริษัทและที่อยู่ตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในครั้งแรกก่อนที่โจทก์จะขอจดทะเบียนแก้ไข ใบกำกับภาษีดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 86/4 ไม่ถือว่าไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามมาตรา 86/4(2) โจทก์จึงสามารถนำใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวมาคำนวณหักภาษีขายในเดือนนั้นได้

หนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะเป็นคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งมีผลในอันที่จะก่อนิติสัมพันธ์และมีผลกระทบต่อสถานภาพทางสิทธิและหน้าที่ของบุคคลจึงต้องทำให้ ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง ฯมาตรา 37 โดยต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วยและเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ เมื่อมาตรา 20 แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการแจ้งการประเมินจะไม่ได้ระบุวิธีการแจ้งว่าจะต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่ และไม่ได้บังคับว่าจะต้องให้เหตุผลด้วย ส่วนการทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์ มาตรา 34 แห่ง ป.รัษฎากรบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือและมิได้บังคับว่าจะต้องให้เหตุผลเช่นเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินโดยทำเป็นหนังสือไปยังผู้เสียภาษีอากรแล้ว หนังสือแจ้งการประเมินซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครองฯ และแม้ว่าการแจ้งการประเมินและการทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์จะได้กระทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน ป.รัษฎากรเป็นการเฉพาะก็ตาม แต่ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครองฯ กำหนดว่า วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ และมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น ป.รัษฎากร มาตรา 20 และ มาตรา 34 จึงเป็นกฎหมายเฉพาะแต่มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครองฯ มาตรา 37 จึงต้องใช้ หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติ ทางปกครองฯ แทน หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์พิพาทจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครองฯไม่อาจใช้บังคับแก่โจทก์ได้

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021