เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 393)
พ.ศ. 2544
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2544
เป็นปีที่ 56 ในรัชกาลปัจจุบัน

                      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                      โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ที่ต้องเสียอากร สำหรับการกระทำตราสารที่เกี่ยวข้องกับกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนบางกรณี

                      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                      มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 393) พ.ศ. 2544”

                      มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป

                      มาตรา 3  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (34) ของมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 374)พ.ศ. 2543

                      “(34) ผู้ที่ต้องเสียอากร เฉพาะตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ในกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน เฉพาะในส่วนของหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการกระทำตราสารในกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนบางกรณี เพื่อส่งเสริมให้การประกอบกิจการดังกล่าวขยายตัวมากยิ่งขึ้น และให้มีการหมุนเวียนหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น อันจะทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งจะเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

 

(ร.จ.ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 118 ตอนที่ 119 ก วันที่ 29 ธันวาคม 2544)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022