เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8969/2547 
บริษัทจุฑามาศ จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ใบกำกับภาษี
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5, 89 (7)

คดีนี้โจทก์ถูกประเมินภาษีกรณีนำใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาใช้ โดยโจทก์อ้างว่า โจทก์ประกอบธุรกิจประเภทโรงงานตัดเย็บผ้าโดยจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ซื้อผ้าหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าจากร้านค้าโดยตรงบ้าง สั่งซื้อผ่านพนักงานขายบ้าง โดยพนักงานขายจะจัดหาวัตถุดิบมาขายให้โจทก์ตามที่ต้องการพร้อมมอบใบกำกับภาษี แต่มีใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการค้ารวม 8 ราย คือ บริษัท รัตนเทวี จำกัด ร้านไพรินทร์การทอเอ็กซ์ปอร์ต ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.เทรดอินเตอร์ บริษัทเอ.พี.เอส.ศิริ จำกัด บริษัท ไอพีเท็กซ์ไทล์ จำกัด บริษัท กิมกังเจี๊ยะ เท็กซ์ไทล์ จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด เทเรซ่าซัพพลาย และห้างหุ้นส่วนจำกัด ทีดีไซน์เทรดดิ้ง ผู้ประกอบการทั้งหมดดังกล่าว จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามกฎหมาย ผู้ประกอบการรายบริษัท กิมกังเจี๊ยะเท็กซ์ไทล์ จำกัด เมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยไปตรวจสถานที่ประกอบการก็ได้ความว่าเคยอยู่จริงแต่ย้ายไปแล้วมีการระบุที่ตั้งใหม่ไว้ด้วย แต่เจ้าพนักงานของจำเลยก็ไม่ได้ตามไปตรวจสอบ รายบริษัท รัตนเทวี จำกัด ตรวจพบว่าสถานที่ตั้งไม่มีป้ายของบริษัท ติดอยู่ และไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ แต่ไม่ได้ไปตรวจสอบอีกเลย รายห้างหุ้นส่วนจำกัด เทเรซ่าซัพพลาย ตรวจพบว่า สถานประกอบการถูกประกาศยึดทรัพย์ รายห้างหุ้นส่วนจำกัด ทีดีไซน์เทรดดิ้ง ตรวจสอบแบบ ภ.พ. 01 พบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของหุ้นส่วนผู้จัดการชื่อนายธงชัย แก้วนิรันดร์ แต่เลขที่บัตรประชาชนดังกล่าวไม่มีในฐานข้อมูล ในทะเบียนราษฎร์ รายห้างหุ้นส่วนจำกัด ซีเทรดอินเตอร์ ตรวจพบแต่เพียงพนักงานของบริษัททราบว่าย้ายไปตั้งอยู่เลขที่ 151 ซอยสุขุมวิท 95/1 แขวงบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ถือว่าไม่ใช่สถานประกอบการ รายบริษัท เอ.พี.เอส ศิริ จำกัด พบนายสานิตย์ หนูอ่อน กรรมการ ผู้จัดการรับว่าไม่เคยประกอบกิจการเพียงแต่จำหน่ายใบกำกับภาษีเท่านั้น ผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย เจ้าพนักงานของจำเลยไปตรวจเพียงครั้งเดียวก็ตั้งเป็นข้อสงสัย โจทก์เห็นว่าเป็นข้อสงสัยที่ เลื่อนลอยมิใช่เงื่อนไขที่จะฟังว่าผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย มิได้ประกอบกิจการจริง ทั้งบุคคลที่เจ้าพนักงานของจำเลยไปสอบถาม จำเลยก็ไม่ได้นำมาเบิกความเป็นพยาน พยานจำเลยจึงไม่น่าเชื่อ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างโดยเป็นผู้ได้รับประโยชน์ในการนำใบกำกับภาษีที่พิพาทไปใช้เครดิตภาษี ภาระการพิสูจน์ว่าใบกำกับภาษีซื้อที่พิพาทออกโดยถูกต้องแท้จริงและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงตกอยู่แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำนายบวร อัญวงศ์วินิต พนักงานขายซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้จัดหาสินค้าและนำใบกำกับภาษีพิพาทมามอบแก่โจทก์และไม่มีผู้มีอำนาจของผู้ประกอบการ ทั้ง 8 ราย หรือพยานอื่นที่เกี่ยวข้องรู้เห็นการซื้อขายมาเบิกความยืนยันต่อศาลว่ามีการซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย ดังกล่าวจริง และมีการชำระราคาแล้วออกใบกำกับภาษี พิพาทให้โจทก์ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่ามีการซื้อขายสินค้าและออกใบกำกับภาษีไว้ตาม ใบกำกับภาษีพิพาท ต้องถือว่าใบกำกับภาษีพิพาทออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามมิให้นำมาหักในการคำนวณภาษี ทั้งนี้ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากรและเป็นกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอมตามมาตรา 89 (7) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรอีกด้วย

ส่วนประเด็นเรื่องโจทก์แสดงภาษีซื้อจำนวน 12,571.31 บาท เกินกว่าใบกำกับภาษีของบริษัท เจแอนด์เจคอมเมอร์เชียล จำกัด เมื่อถึงชั้นศาล โจทก์ตรวจสอบค้นพบใบกำกับภาษีดังกล่าวและนำส่งศาลซึ่งมิใช่ใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการ 8 รายข้างต้นนั้น ใบกำกับภาษีของบริษัทเจแอนด์เจตอมเมอร์เชียล จำกัด ไม่ใช่ใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย ที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งใบกำกับภาษีดังกล่าวมิได้ถูกเจ้าพนักงานประเมินว่าเป็นใบกำกับภาษีที่มิชอบด้วยกฎหมายดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนของภาษีซื้อจำนวน 12,571.31 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้วว่าใบกำกับภาษีพิพาท ซึ่งโจทก์อ้างว่าออกโดยผู้ประกอบการค้า 8 ราย ข้างต้น แม้จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม แต่พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบต่อศาลรับฟังไม่ได้ว่ามีการซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์จริง ใบกำกับภาษีพิพาทจึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือเป็นใบกำกับภาษีปลอมตามมาตรา 89 (7) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงต้องเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตาม ใบกำกับภาษีนั้นตามมาตรา 89 (7) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ ลดเบี้ยปรับด้วยนั้น เห็นว่า กรณีฝ่าฝืนมาตรา 89 (7) แห่งประมวลรัษฎากร นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการคำนวณภาษีถือเป็นกรณีร้ายแรงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเบี้ยปรับให้.

นายขจรเดช เจนวัฒนานนท์/ย่อ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021