เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 3935/2548 
บริษัทไทย - เอ็มซี จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ผู้ทำการแทนนิติบุคคลต่างประเทศ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 39, 65 ตรี, 65 ทวิ, 70 ทวิ, 76 ทวิ

พระราชกำหนดออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.2505 กฎกระทรวงฉบับที่ 143 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป 13/2529

เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบต้นทุนของโจทก์แล้ว เห็นว่า โจทก์แสดงต้นทุนเกินสมควร โจทก์ได้จัดส่งเอกสารประกอบการพิจารณา แต่เอกสารที่โจทก์ส่งเป็นเอกสารประกอบการลงบัญชีต้นทุนที่จ่ายจากบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น (ต่อไปจะใช้คำว่าบริษัทดังกล่าวแทน) เป็นเพียงสำเนาเอกสารและโจทก์เพิ่งจัดส่งเอกสารดังกล่าวในชั้นตรวจสอบภายหลังจากได้ให้การชี้แจงต่อเจ้าพนักงานประเมินแล้ว จำนวน 17 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2530 ถึง 2536 ก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ในวันที่ 31 สิงหาคม 2536 ไม่กี่วัน การที่ผู้รับมอบอำนาจบริษัทดังกล่าวจัดส่งเอกสารล่าช้าให้แก่เจ้าพนักงานประเมินถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของบริษัทดังกล่าวส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าได้จัดส่งเอกสารตามที่เจ้าพนักงานประเมินระบุไว้ในหมายเรียกครบถ้วนเพียงพอที่จะพิสูจน์ตามประเด็นที่เจ้าพนักงานมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีอากรหรือไม่ และเมื่อพิจารณาสำเนาเอกสารที่โจทก์จัดส่งดังกล่าวประกอบกับคำเบิกความของพยานโจทก์แล้วก็ไม่อาจแสดงให้เห็นเป็นที่ชัดเจนได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่แสดงต้นทุนของบริษัทสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นที่จ่ายสำหรับโครงการประกอบกิจการชั่วคราวของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทยตามที่โจทก์อ้าง และเป็นรายจ่ายที่จ่ายให้แก่บุคคลใดเกี่ยวข้องกับโครงการประกอบกิจการชั่วคราวของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทยโดยเฉพาะหรือไม่ เนื่องจากเอกสารบางส่วนมิได้ระบุถึงการจ่ายรายจ่ายของบริษัทดังกล่าวให้บุคคลใดและเพื่อโครงการประกอบกิจการชั่วคราวของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทยและมีจำนวนต้นทุนตามที่โจทก์อ้าง เอกสารดังกล่าวจึงไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมิน เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้แต่ไม่อาจพิสูจน์แสดงต้นทุนสำหรับโครงการประกอบกิจการชั่วคราวที่จ่ายจากบริษัทสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าโจทก์แสดงต้นทุนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศสำหรับโครงการประกอบกิจการชั่วคราวในประเทศไทยเกินสมควรตามที่เจ้าพนักงานประเมินไว้ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.13/2529 แม้มิใช่กฎหมายเป็นเพียงระเบียบภายในเพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติ และไม่มีข้อความตอนใดบังคับใช้กับกรณีของบริษัทดังกล่าว (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ) เป็นที่ชัดเจนก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ของบริษัทดังกล่าวที่ไม่สามารถแสดงต้นทุนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศสำหรับโครงการประกอบกิจการชั่วคราวในประเทศไทยให้เห็นเป็นที่ชัดเจนได้ว่ามีจำนวนเท่าใด เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินหักรายจ่ายตามจริงในการขายและบริการรวมทั้งต้นทุนก่อสร้างเฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในอัตราร้อยละ 3 และ 0.15 ของรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทเท่านั้น แต่การที่เจ้าพนักงานประเมินนำคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.13/2529 มาเป็นเกณฑ์หักรายจ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 70 ของยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชี จึงนับว่าเป็นคุณและเหมาะสมสำหรับพฤติการณ์ของบริษัทดังกล่าวในกรณีนี้แล้ว สำหรับรายจ่ายค่ารับรองและเงินสำรองบำเหน็จพนักงานสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2528 และรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2529 เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (1) และ (4) หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 ประกอบด้วยอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นดังกล่าว ข้อ 3 วรรคสาม กำหนดว่า ในการกำหนดกำไรจากอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์ของสถานประกอบการถาวรจะต้องยอมให้หักค่าใช้จ่ายทั้งปวง ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อความมุ่งประสงค์ของสถานประกอบการถาวรนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นในการนั้น ไม่ว่าในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น แต่สำหรับรายจ่ายค่ารับรองและเงินสำรองบำเหน็จพนักงานของบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่า รายจ่ายค่ารับรองและรายจ่ายเงินสำรองบำเหน็จพนักงานของบริษัทดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกิจการของสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยโดยตรง และเพื่อความมุ่งประสงค์ของสถานประกอบการถาวรนั้น ซึ่งการตั้งเงินสำรองบำเหน็จพนักงานตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นเรื่องที่บริษัทดังกล่าวส่งบุคลากรเข้ามาบริหารงานเพื่อสนับสนุนกิจการของสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยก็ไม่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวส่งบุคคลใดมาบริหารงานและบริหารงานเพื่อสนับสนุนกิจการของสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยเรื่องใด โจทก์เองก็ยอมรับตามคำฟ้องว่า การตั้งเงินสำรองบำเหน็จพนักงานเป็นรายจ่ายนั้นเป็นการตั้งตามวิธีการทางบัญชีของบริษัทดังกล่าวที่จัดสรรมาให้โจทก์ในอัตราเฉลี่ยเป็นร้อยละซึ่งเป็นวิธีการทางบัญชีที่ปฏิบัติกันทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งเป็นวิธีการที่กรมสรรพากรประเทศญี่ปุ่นยอมรับเท่านั้น ส่วนรายจ่ายค่ารับรองตามฟ้อง โจทก์อ้างว่าบริษัทดังกล่าวได้ใช้จ่ายเงินเป็นค่ารับรองลูกค้าเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นถึงรายละเอียดว่าเป็นค่ารับรองลูกค้าเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของสถานประกอบการถาวรอย่างใด เกี่ยวข้องกับกิจการในประเทศไทยหรือไม่ โจทก์จะนำมาถือเป็นรายจ่ายโดยพิจารณาแต่เพียงว่ามีจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายของบริษัทดังกล่าวเท่านั้นไม่ได้เพราะตามข้อ 14 วรรคแรก ของอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นระบุว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด จะยังคงใช้บังคับในการเก็บภาษีอากรจากเงินได้ในรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ เว้นแต่ในกรณีที่บทของอนุสัญญานี้ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การที่บริษัทดังกล่าวจะนำรายจ่ายค่ารับรองและเงินสำรองบำเหน็จพนักงานมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย บริษัทดังกล่าวจะต้องปฏิบัติไปตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ด้วย โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรออกจากประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรมาตรา 70 ทวิ แทนบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น และได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัทดังกล่าวตามประมวลรัษฎากรมาตรา 76 ทวิ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ถือว่าบริษัทดังกล่าวนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นเป็นตัวแทนของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้คือส่วนที่ 3 ของหมวด 3 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว ซึ่งการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ อยู่ในส่วน 3 ด้วย ดังนั้น ผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย จึงอยู่ในขอบข่ายที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยด้วย หากเข้าเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ กำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อความเสมอภาคในการเสียภาษีให้แก่รัฐบาลไทยเช่นเดียวกับกรณีที่บริษัทต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยในลักษณะของสำนักงานสาขา ซึ่งหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ให้จัดเก็บจากจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลต่างประเทศที่ได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย บริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นนิติบุคคลต่างประเทศและไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย กระทำกิจการในประเทศไทยด้วยกัน 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย และอีกประเภทหนึ่งคือ ประกอบกิจการก่อสร้างและขายสินค้าประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมให้แก่โครงการของหน่วยงานรัฐบาลไทย การขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทยนั้น โจทก์เป็นนายหน้าทำหน้าที่ชี้ช่องให้บริษัทดังกล่าวและผู้ซื้อในประเทศไทยได้ซื้อขายสินค้ากันเท่านั้น ผลตอบแทนที่โจทก์ได้รับมีเพียงค่านายหน้าจากบริษัทดังกล่าว ส่วนการทำโครงการในประเทศที่บริษัทดังกล่าวทำให้แก่หน่วยงานราชการไทยนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นผู้จ่ายเงินค่าสินค้าและค่าจ้างให้บริษัทดังกล่าวโดยตรง เมื่อการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกรณีนี้ระหว่างผู้ซื้อในประเทศไทยกับบริษัทดังกล่าวเป็นการทำสัญญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อให้แก่บริษัทดังกล่าวในประเทศไทยอีกทั้งโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัทดังกล่าว การที่โจทก์เข้าไปผูกพันกับบริษัทดังกล่าวในการยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน โจทก์ย่อมรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของบริษัทดังกล่าวเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทดังกล่าวอย่างมาก มิฉะนั้นโจทก์คงไม่เข้าไปผูกพันกับบริษัทดังกล่าวเช่นนั้น โจทก์จึงมิใช่เป็นเพียงตัวแทนธรรมดาทั่วไปที่หาลูกค้าให้บริษัทดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น การที่บริษัทดังกล่าวมีข้อตกลงให้ลูกค้าในประเทศไทยส่งเงินหรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยตรงจึงเป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการตามที่โจทก์ตกลงกับบริษัทดังกล่าวเท่านั้น โจทก์จะนำความแตกต่างเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างเพียงเท่านี้มาเป็นเหตุให้เกิดภาระภาษีที่แตกต่างกันหาได้ไม่ ด้วยเหตุนี้แม้ลูกค้าจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่บริษัทดังกล่าวซึ่งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยตรงก็ตามก็หามีผลผิดแผกแตกต่างไปจากการที่ลูกค้าส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างไปให้บริษัทดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง เพราะไม่ว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างออกไปเองหรือให้ลูกค้าของบริษัทดังกล่าวชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างทั้งหมดให้แก่บริษัทดังกล่าวในต่างประเทศโดยตรงด้วยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทดังกล่าวไปเบิกเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ก็ถือได้ว่ามีผลทำให้บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่ถือว่าประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย และเมื่อเงินที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยมีส่วนของกำไรหรือถือได้ว่าเป็นกำไรรวมอยู่ด้วย เนื่องจากในการกำหนดราคาขายสินค้าหรือให้บริการ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะต้องคิดค่าสินค้าหรือค่าจ้างรวมเอาส่วนที่เป็นผลกำไรไว้ด้วย เมื่อไม่ปรากฏปัจจัยอื่นที่จะมีผลทำให้กำไรที่คำนวณไว้โดยปกติธรรมดาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะทำให้มีการขาดทุนจึงต้องถือว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 70 ทวิ สำหรับการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายในปีภาษี 2529 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มิได้นำสืบแสดงให้เห็นว่า รายละเอียดการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายของผู้เชี่ยวชาญ 4 คน ที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณไว้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร เมื่อภาะการพิสูจน์ในประเด็นนี้ตกแก่โจทก์ แต่โจทก์คงมีนางยุราพรเบิกความลอยๆ ไม่มีต้นฉบับเอกสารประกอบการจ่ายและสมุดบัญชีให้ตรวจสอบความถูกต้องว่าได้จ่ายไปจริงให้แก่ผู้เชี่ยวชาญคนใด เดือนละจำนวนเท่าใด และการคำนวณของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังดังที่โจทก์อ้างได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายถูกต้องจึงชอบแล้ว จำเลยทั้งสี่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิเนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำการประเมินภาษีบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเทศญี่ปุ่นหาใช่เป็นการประเมินภาษีต่อโจทก์ไม่ เห็นว่าตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ ว่า ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีไม่ถูกต้อง ในกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการที่จะเรียกให้ผู้ทำการแทนรับผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 76 ทวิ วรรคแรกนั้น เจ้าพนักงานประเมินจะต้องดำเนินการตามมาตรา 19 และ 20 แห่งประมวลรัษฎากรก่อน กล่าวคือ จะต้องเรียกบุคคลผู้ต้องรับผิดนั้นมาไต่สวนแล้วแจ้งจำนวนเงินที่จะประเมินไปยังบุคคลผู้ต้องรับผิด เพื่อที่บุคคลนั้นจะได้มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามความในมาตรา 76 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ก่อน ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง สำหรับกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย แม้ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จะแจ้งแก่โจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ในฐานะสถานประกอบการถาวรของบริษัทดังกล่าวได้จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเข้ามาควบคุมติดตั้งเครื่องจักรในโครงการต่างๆ ที่บริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ทำในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากรมิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินคือโจทก์ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 54 ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลาง / ย่อ

 

หมายเหตุ การพิจารณาว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใดเป็นผู้ทำการแทนนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ นั้น ตามแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมา ศาลฎีกายังคงวินิจฉัยตามหลักเดิมตลอดมา รวมทั้งคดีนี้ด้วย กล่าวคือหากนิติบุคคลหรือบุคคลในประเทศไทย เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ตัวแทนในการติดต่อหรือเป็นนายหน้าในการซื้อขายสินค้าหรือบริการให้แก่นิติบุคคลต่างประเทศ โดยเป็นตัวแทนนิติบุคคลนั้นเพียงแห่งเดียว ก็ถือว่าบุคคลหรือนิติบุคคลนั้นเป็นตัวแทนไม่อิสระ ตัวแทนดังกล่าวถือว่าเป็นผู้ทำการแทนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น แต่หากตัวแทนนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนเพียงนิติบุคคลต่างประเทศแห่งเดียว แต่เป็นหลายแห่ง ถือว่าเป็นตัวแทนอิสระ และไม่ใช่ผู้ทำการแทนนิติบุคคลต่างประเทศ ส่วนการพิจารณาว่าเป็นตัวแทนแห่งเดียวหรือหลายแห่งต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงแต่ละกรณีไป สำหรับกรณีตามคำพิพากษานี้ โจทก์เป็นผู้ชี้ช่อง ติดต่อให้นิติบุคคลต่างประเทศกับผู้ซื้อในประเทศไทยซื้อขายกันและโจทก์เป็นตัวแทนนิติบุคคลต่างประเทศเพียงรายเดียว มีการทำสัญญาในประเทศไทย จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนนิติบุคคลต่างประเทศ และการที่ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยให้โจทก์ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่โจทก์ไม่ได้เป็นผู้จัดส่งให้นิติบุคคลต่างประเทศด้วย ก็เป็นไปตามหลัก Force of Attraction ซึ่งเป็นการขยายอำนาจของรัฐให้มีสิทธิในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรในการประกอบกิจการ จากสถานประกอบการถาวร แม้ว่าการซื้อขายนั้นไม่ได้กระทำผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่านิติบุคคลต่างประเทศ ได้รับเงินได้หรือผลกำไรจากประเทศไทยก็ต้องถือว่า ผู้ทำการแทนซึ่งถือเป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศต้องรับผิดในการชำระภาษีจากเงินได้ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีหรือการวางแผนภาษีของบริษัทต่างประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาอีกเรื่องหนึ่งที่วางหลัก Anti Tax Avoidance ไว้

นายสุวัฒน์ ไวยุพัฒนธี

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021