เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3700/2547 
กรมสรรพากร โจทก์

บริษัท ที.เค.พี. จำกัด

จำเลย
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ก) , 81/3 (1) , 82/3 , 82/5

การขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดที่มิใช่การส่งออกเป็นการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มาตรา 81/3(1) ก็บัญญัติให้ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการดังกล่าวขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี ตามมาตรา 82/3 ได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักร ผู้ประกอบการย่อมไม่มีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการดังกล่าวตามมาตรา 82/3 โจทก์ระบุในคำฟ้องชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทการค้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดเท่านั้น แต่จำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดด้วยตนเองเลย เพียงแต่ขายให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นการขายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ก) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน แต่จำเลยยังยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ขอคืนภาษีซื้อด้วยเงินสดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2535 ถึงเดือนธันวาคม 2539 เป็นการสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์หลงเชื่อคืนภาษีซื้อให้แก่จำเลยจำนวน 2,013,936.31 บาท เมื่อโจทก์เห็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินภาษีซื้อคืนโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ยอมคืน จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักร แต่จำเลยกลับยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและขอคืนภาษีซื้อเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์คืนภาษีซื้อให้แก่จำเลย โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าภาษีซื้อที่จำเลยนำมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงมีมูลหนี้ที่แน่ชัด เมื่อคำฟ้องของโจทก์ระบุถึงมูลหนี้และเหตุที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์โดยแจ้งชัดแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021