เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 457)

พ.ศ.2549

   -------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 10  พฤษภาคม พ.ศ. 2549

เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

                       โดยที่เป็นการสมควรให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อผูกพันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรที่มีอยู่ตามโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยให้ทันสมัย ภายใต้โครงการตอบแทนกลับคืนทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

                        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามมาตรา 3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

                          มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า ”พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 457) พ.ศ. 2549”

 

                   มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

                         มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2  หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สำหรับเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน หรือเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทยตามโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยให้ทันสมัย ภายใต้โครงการตอบแทนกลับคืนทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นไป

 

                        มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศสำหรับเงินได้ที่ได้รับเนื่องมาจากการประกอบกิจการในประเทศไทยตามโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยให้ทันสมัย ภายใต้โครงการตอบแทนกลับคืนทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป

 

                        มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการในราชอาณาจักรตามโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยให้ทันสมัย ภายใต้โครงการตอบแทนกลับคืนทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ได้กระทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป

 

                       มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้สนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

        นายกรัฐมนตรี

 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรได้มีข้อผูกพันตามโครงการตอบแทนกลับคืนทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้มีการลงนามในบันทึกการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2545 และเอกสารเพิ่มเติมบันทึกการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2546 โดยรัฐบาลไทยมีความประสงค์ให้ยุทโธปกรณ์และบริการที่จะจัดหาตามสัญญาจัดหายุทโธปกรณ์และบริการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ตามโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยให้ทันสมัย ภายใต้โครงการตอบแทนกลับคืนทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

   (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 123 ตอนที่ 54 ก  วันที่ 25 พฤษภาคม 2549)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022