เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1252/2549 
นายวิศิษย์ศักดิ์ วงศ์สถิตย์พรโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง การขายอสังหาริมทรัพย์
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2(6)

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 69

โจทก์ขายที่ดินในระหว่างการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าและหากำไร(ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร(ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ออกมาโดยยกเลิก พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 แต่ไม่มีบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534ยังคงให้บังคับสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ค้างต่อไป เจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจประเมินภาษีตามฟ้องโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 และ การประเมินภาษีดังกล่าวขัดกับมาตรา 69 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่บัญญัติว่า "บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ..." หรือไม่

ศาลเห็นว่า พระราชกฤษฎีกาตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือ หากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 มาตรา 3 เพียงแต่บัญญัติให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 เท่านั้น มิได้บัญญัติว่า รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในระหว่างพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ใช้บังคับไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉะนั้น แม้พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 จะไม่มีบทเฉพาะกาลให้พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ยังคงใช้บังคับแก่การจัดเก็บภาษีที่ค้างชำระต่อไป เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244)พ.ศ.2534 ได้ และการประเมินภาษีดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จึงเป็นการประเมินภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่า การขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็น การขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่ได้บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ได้ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่ให้ถือว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ลักษณะใดบ้างที่ถือเป็นการขายในทางการค้าหรือหากำไรตามที่มาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มา การขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์จึงเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา3 (6) การประเมินของเจ้าพนักงานฯ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายและคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021