เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1551/2549 
นางจารุณี เจียรพินิจนันท์ โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(18), 82/3, 82/4, 85

ประมวลรัษฎากร มาตรา 85 วรรค 4 บัญญัติให้ ผู้ประกอบการซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น ผู้ประกอบการจดทะเบียนนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มิได้บัญญัติบังคับว่าให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงอาจมีผลย้อนหลังได้แล้วแต่จำเลย ที่ 1 จะอนุมัติโดยระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ประกอบอาชีพขาย เปลี่ยนและปะยางรถยนต์ตั้งแต่ปี 2546 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นมา แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2542 หลังจากกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มใช้บังคับแล้วถึง 7 ปีเศษ ทั้งๆ ที่โจทก์มี รายรับเกินกว่าปีละ 1,200,000 บาท อันอยู่ในบังคับต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และในปี 2539 เมื่อพิจารณาถึงยอดซื้อยางรถยนต์กับอัตรากำไรแล้วควรมีรายรับ 4,000,000 บาทเศษ การที่จำเลยที่ 1 ไม่อนุมัติให้โจทก์เป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 จึงเป็นการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อของเดือนภาษีมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2539 หักออกจากภาษีขายของแต่ละเดือนภาษีดังกล่าว เพราะตามประมวลรัษฎากร มาตรา82/3 ประกอบมาตรา 82/4 และ 77/1(18) ผู้ประกอบการที่จะมีสิทธินำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายได้ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้โจทก์นำภาษีซื้อของเดือนภาษีดังกล่าวหักออกจากภาษีขายของแต่ละเดือนภาษีดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

แม้โจทก์จะไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ตรวจภาษีของจำเลยที่ 1 แต่ได้ความจากคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 พยานจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์มาพบพยานทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งแรกขอผัดส่งเอกสารทางบัญชี ครั้งที่ 2 ขอผัดส่งรายชื่อลูกค้า ครั้งที่ 3 แจ้งว่าจำรายชื่อลูกค้าไม่ได้ มิได้เก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าไว้ บัญชีและรายละเอียดสินค้าก็มิได้จัดทำ จึงไม่สามารถส่งเอกสารได้ ส่วนอัตรากำไรก็ไม่สามารถตอบได้ ครั้งที่ 4 ก็ยังคงไม่สามารถชี้แจงอัตรากำไรขั้นต่ำได้ ครั้งสุดท้ายรับว่าหาหลักฐานใบเสร็จรับเงินและใบส่งของไม่พบ ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้จะถือว่าโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีโดยดีไม่ได้ และพฤติการณ์ส่อแสดงว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุที่งดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ ส่วนเงินเพิ่มนั้นไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดได้และจะลดได้ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจงดหรือลดได้

ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021