เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2880/2549 
นายนเรนทร์ อุนานุภาพโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีธุรกิจเฉพาะ การประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 มาตรา 91/16 มาตรา 91/21(5)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31

โจทก์ขายห้องชุดในราคา 500,000 บาท เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2535 โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2535 ตามประมวลรัษฎากร ม.91/10 วรรคสอง ต่อมาโจทก์ยื่นแบบ ภ.ธ.40 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540 และได้ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 54 เดือน รวมเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 29,865 บาท วันที่ 3 ตุลาคม 2545 กรมสรรพากรแจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ยื่นแบบ ภ.ธ.40 ขาดไปจำนวน 188,400 บาท เนื่องจากห้องชุดดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาทุนทรัพย์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเงิน 688,400 บาท และประเมินภาษีโจทก์จำนวน 24,868 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์เสียภาษีเป็นเงิน 12,434.40 บาท

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานฯ ขาดอายุความหรือไม่ ศาลเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่บทบัญญัติเรื่องอายุความในสิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากร ทั้งการออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/21 (5) ให้นำบทบัญญัติมาตรา 88/4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม อำนาจของเจ้าพนักงานฯ จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 19 และมาตรา 193/31 บัญญัติให้ สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความสิบปี การที่โจทก์มิได้ยื่นแบบ ภ.ธ.40 ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2535 และเจ้าพนักงานฯ ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 จึงยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของจำเลยยังไม่ขาดอายุความ

การที่เจ้าพนักงานฯ ยึดถือหลักเกณฑ์การกำหนดรายรับของจำเลย โดยถือรายรับที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามความเป็นจริง แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอน มาใช้ในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะแสดงรายรับที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง การใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ของเจ้าพนักงานที่ดิน สำหรับห้องชุดของโจทก์ จำนวน 688,400 บาท มาเป็นรายรับในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 91/16 แล้ว.

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021