เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่114/2549 
บริษัทไรซ์เอ็นจิเนียริ่งซัพพลาย จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 309) พ.ศ.2540

สัญญาซื้อขายลำดับที่ 20 ทำสัญญาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 ซึ่งมีรายละเอียดของสัญญาว่า ผู้ขายตกลงขายและผู้ซื้อตกลงซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้งานในโรงคัดเมล็ดพันธุ์ ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 รวมเป็นเงิน 2,900,000 บาท มีเงื่อนไขการชำระเงินเป็น 4 งวด งวดที่ 1 เมื่อตกลงสั่งซื้อ งวดที่ 2 ชำระเมื่อส่งเครื่องจักรหลักถึงโรงสี งวดที่ 3 ชำระเมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อย และงวดที่ 4 ชำระเมื่อทดสอบเครื่องจนใช้งานได้ดี และสัญญาข้อ 4 ระบุว่า เครื่องจักรเหล่านี้จะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 7 ยังระบุความรับผิดชอบของผู้ขายไว้ 5 ประการ คือออกแบบระบบโรงคัดเมล็ดพันธุ์ให้ทั้งหมด ติดตั้งระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรที่ขายให้ทั้งหมด ทดสอบเครื่องจนใช้งานได้ดี และฝึกสอนเจ้าหน้าที่ของผู้ซื้อจนใช้งานเป็น จากเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่า นอกจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องส่งมอบเครื่องจักร และติดตั้งให้ผู้ซื้อภายในกำหนดแล้วโจทก์ยังต้องออกแบบระบบโรงคัดเมล็ดพันธุ์และติดตั้งระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรทั้งหมดตลอดจนทดสอบเครื่องจักรให้ใช้งานได้ดีด้วย จึงได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเครื่องจักรไว้ว่า ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ส่งมอบจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่มีเงื่อนไขว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยัง ผู้ซื้อทันทีเมื่อได้มีการส่งมอบสินค้าตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 ดังกล่าว ข้อ 1 (2) สำหรับสัญญาซื้อขายลำดับที่ 21 ก็มีการระบุไว้ในสัญญาทำนองเดียวกับสัญญาซื้อขายลำดับที่ 20 คือ เป็นสัญญาซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้ในโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยราคาขายเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ไว้แล้ว และมีเงื่อนไขการชำระเงิน 3 งวด และมีสัญญาข้อ 4 ระบุว่า เครื่องจักรเหล่านี้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายจนกว่าจะส่งมอบงานทั้งหมด สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้าโอนไปยังผู้ซื้อทันทีเมื่อได้ส่งมอบ เช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายลำดับที่ 20 สัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ เมื่อสัญญาซื้อขายดังกล่าวทั้งสองฉบับได้ทำสัญญาและมีการผ่อนชำระตามสัญญาก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 เรื่องประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 ข้อ 1 (2)

ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021