เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่5279/2548 
กรมสรรพากร โจทก์

นางสมพร ชลสิทธิ์ ที่ 1 กับพวก รวม 5 คน

จำเลย
เรื่อง กองมรดก
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 12

ประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1629 1635

คดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เป็นคดีที่นายสมบูรณ์เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณา กับขอให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่หักไว้ ณ ที่จ่ายเกิน และยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นประเด็นที่ศาลในคดีดังกล่าว ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งห้าให้รับผิด แต่คำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า หนี้ภาษีอากรค้างที่นายสมบูรณ์เป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ในคดีดังกล่าวนั้น นายสมบูรณ์ยังไม่ได้ชำระแก่โจทก์โดยครบถ้วน และนายสมบูรณ์ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมบูรณ์มีหน้าที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวของนายสมบูรณ์แก่โจทก์ โดยจะต้องนำทรัพย์สินกองมรดกของนายสมบูรณ์ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้ง 5 มาชำระหนี้แก่โจทก์ ประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องในคดีนี้จึงมีว่าจำเลยทั้ง 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสมบูรณ์มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรของนายสมบูรณ์แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับในคดีก่อน จริงอยู่แม้จำเลยทั้ง 5 อยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิของนายสมบูรณ์ผู้ตายดังความเห็นของศาลภาษีอากรกลางก็ตาม แต่สภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 5 ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายสมบูรณ์และรับผิดในหนี้ที่นายสมบูรณ์มีอยู่แล้ว แก่โจทก์ซึ่งเป็นความรับผิดของทายาทโดยเฉพาะต่อกองมรดกที่ตกทอดให้แก่ตนตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ที่ ประชุมใหญ่ ของศาลฎีกายังเห็นต่อไปว่าแม้คดีที่นายสมบูรณ์เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยดังกล่าว ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19672541 ที่พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางและให้งดเบี้ยปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าให้แก่นายสมบูรณ์โจทก์ในคดีแล้วทั้งหมด อันมีผลให้หนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง ซึ่งอธิบดีโจทก์มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดมาขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายสมบูรณ์ได้เองตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง โดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งก็ตาม แต่บทบัญญัติ ดังกล่าวก็เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายหนึ่งที่บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีโจทก์ไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร ให้เป็นไปโดยด้วยความรวดเร็วโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่คืน อำนาจของอธิบดีโจทก์เช่นว่านี้แม้จะมีลักษณะเสมือนเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ก็หามีผลทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างกลับกลายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไปไม่ ทั้งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้ง 5 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสมบูรณ์เช่นนี้ก็เพื่อให้ความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างของนายสมบูรณ์ที่จำเลยทั้ง 5 ต้องรับผิดแก่โจทก์เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้ง 5 เป็นคดีนี้ได้

 

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 5 ให้รับผิดในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์เจ้ามรดก และหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้ง 5 รับผิด เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่เจ้าพนักงานได้ประเมินให้นายสมบูรณ์ชำระ นายสมบูรณ์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว นายสมบูรณ์ก็ได้อุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางโดยฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยขอให้ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1697/2541 หนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นหนี้ภาษีอากรค้างที่นายสมบูรณ์เป็นผู้หน้าที่ต้องรับผิดเสียภาษีอากรดังกล่าวโดยเด็ดขาดแล้ว และคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดย่อมมีความผูกพันโจทก์คดีนี้และนายสมบูรณ์ซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาในคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 นายสมบูรณ์จึงไม่อาจรื้อฟื้นโต้แย้งต่อโจทก์เกี่ยวกับการประเมินภาษีอากรดังกล่าวได้อีก และในกรณีเช่นนี้จำเลยทั้ง 5 ในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ซึ่งต้องรับไปซึ่งทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ อันเป็นกองมรดกของผู้ตายและอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิในกองมรดกของนายสมบูรณ์ก็ไม่มีสิทธิโต้แย้งเกี่ยวกับการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานของโจทก์ดุจเดียวกัน เมื่อคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 กับคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 3 ที่ 5 ล้วนเป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทั้งสิ้น การที่จำเลยทั้ง 5 ไม่มีสิทธิยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีนี้จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นแห่งคดีที่จำเลยทั้ง 5 จะโต้เถียงให้ฟังแปรเปลี่ยนไปเป็นประการอื่นได้

เมื่อจำเลยทั้ง 5 เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายสมบูรณ์ผู้ตายซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของนายสมบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้ง 5 ในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ให้รับผิดในหนี้ของนายสมบูรณ์ได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่ากองมรดกของนายสมบูรณ์จะมีทรัพย์สินหรือไม่ มากน้อยเพียงใดหรือจำเลยทั้ง 5 ในฐานะทายาทจะได้รับมรดกมาแล้วหรือไม่ และถึงแม้โจทก์ได้ใช้อำนาจสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของนายสมบูรณ์ชำระหนี้ไปบ้างแล้วและมีจำนวนเพียงพอชำระหนี้ของนายสมบูรณ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้ง 5 อาจโต้แย้งได้ในชั้นบังคับคดีต่อไป จำเลยทั้ง 5 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ของนายสมบูรณ์แก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยทั้ง 5 ในฐานะของนายสมบูรณ์จึงต้องร่วมกันชำระเงินให้กับโจทก์ ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยทั้ง 5 ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดให้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601.

ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021