เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่5672/2548 
นายบุญหนา โพธิ์พยัคฆ์ โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ใบกำกับภาษี
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6(1)(ก) , มาตรา 82/5(1)

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25

หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2541 และเดือนภาษีมกราคมถึงเมษายน 2542 และเดือนภาษีมิถุนายนถึงกันยายน 2542 มีทุนทรัพย์ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละฉบับไม่เกิน 50 , 000 บาท เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในแต่ละเดือนภาษีซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน จึงต้องถือว่าการฟ้องแต่ละหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นข้อหาแยกต่างหากจากกัน สิทธิในการอุทธรณ์จึงต้องพิจารณาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละฉบับ กรณีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2541 และเดือนภาษีเมษายน 2542 รวมทั้งเดือนภาษีมิถุนายน กรกฎาคม และกันยายน 2542 หรือไม่ และมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงมีนาคม 2542 อีกทั้งเดือนภาษีสิงหาคม 2542 ลงอีกหรือไม่นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ซื้อน้ำมันและชำระค่าน้ำมันแก่นางจรรยาแล้ว นางจรรยานำไปชำระแก่ผู้ขายอีกทอดหนึ่ง บางครั้งโจทก์ชำระราคาไม่ครบ นางจรรยาจะออกแทนในส่วนที่ยังขาดอยู่ไปก่อนแล้วโจทก์ชำระให้นางจรรยาตามหลังจนครบ นางจรรยาจึงเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระราคาค่าน้ำมันต่อผู้ขายหาใช่โจทก์ไม่ แสดงว่านางจรรยาซื้อน้ำมันจากผู้ออก ใบกำกับภาษีแล้วนำมาขายให้แก่โจทก์ หาใช่โจทก์เป็นผู้ซื้อน้ำมันจากผู้ออกใบกำกับภาษีไม่ ดังนั้น ใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงออกโดยผู้ที่มิได้ขายน้ำมันให้แก่โจทก์โดยตรง การที่ใบกำกับภาษีดังกล่าวระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าหรือผู้ซื้อจึงไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม จึงเป็นกรณีที่โจทก์นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการคำนวณภาษี

 

หมายเหตุ ตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ไม่ได้ซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ขาย แต่ใบกำกับภาษีระบุชื่อโจทก์จึงไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงถือได้ว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอมนั้น น่าจะไม่ตรงกับบทกฎหมายที่ใช้บังคับกับเรื่องใบกำกับภาษี เนื่องจาก ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5(2) ใช้คำว่า ใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษี ใบกำกับภาษีในคดีนี้ไม่ได้มีการปลอมขึ้น เพียงแต่ผู้ออกใบกำกับภาษีออกใบกำกับภาษีโดยมีชื่อผู้ซื้อไม่ตรงกับความเป็นจริง โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อตามใบกำกับภาษีจึงไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณภาษีเท่านั้น

ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021