เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 874/2538 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองไทยนาบอน โจทก์

ร้อยตรีกุลยา กุลมัย กับพวก

จำเลย
เรื่อง การออกหมายเรียก
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20

คำให้การของจำเลยรับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ว่า การประเมินภาษีรายพิพาทเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินต้องกระทำภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6 (1)(ก) เจ้าพนักงานประเมินไม่ได้ทำการประเมินภาษีรายพิพาทภายในกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว ข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยที่ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีรายพิพาทภายในกำหนดเวลาห้าปีโดยอนุมัติอธิบดี เพราะเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6 วรรคสอง เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ และกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยฝ่ายเดียว ภาระพิสูจน์ในปัญหานี้จึงตกแก่จำเลย แม้ศาลภาษีอากรกลางจะมีคำสั่งให้โจทก์นำสืบพยานก่อน และโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานในปัญหานี้ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องนำสืบพยานให้รับฟังได้ว่าการประเมินภาษีรายพิพาทเจ้าพนักงานประเมินกระทำโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว

 

แม้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และ 20 จะบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินที่จะดำเนินการแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ แต่จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าการตรวจสอบครั้งแรกผิดพลาดบกพร่องหรือไม่ถูกต้อง การออกหมายเรียกตรวจสอบใหม่จึงจะเป็นการออกหมายเรียกที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ยังต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2525 ข้อ 7.3 ว่า จะต้องไม่เรียกตรวจสอบซ้ำกับปีที่เคยออกหมายเรียกไปแล้ว เว้นแต่กรณีมีหลักฐานหรือข้อมูลซึ่งไม่ซ้ำกับที่เคยตรวจสอบไปก่อนแล้ว หรือกรณีมีเหตุอันควรอื่นก็ให้ขออนุมัติออกหมายเรียกตรวจสอบใหม่ได้เฉพาะราย เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานอย่างใดเลยว่าการตรวจสอบครั้งแรกผิดพลาดบกพร่องหรือถูกต้องประการใด เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์มาตรวจสอบภาษีใหม่เป็นครั้งที่สอง

การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีของโจทก์ครั้งแรกเนื่องจากโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 แสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นเสียภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ ซึ่งในการตรวจสอบครั้งแรกโจทก์ได้นำส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อยางพาราแล้วในการที่จะทราบว่าโจทก์เสียภาษีไว้ถูกต้องหรือไม่ เจ้าพนักงานประเมินจะต้องตรวจสอบว่าโจทก์มีกำไรสุทธิเท่าใด โดยพิจารณาถึงรายได้และรายจ่ายของโจทก์โดยเฉพาะรายจ่ายในการซื้อยางพารา มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถคิดคำนวณหาตัวเลขว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งไม่สามารถพิจารณาว่าเงินค่าภาษีที่โจทก์ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้นั้นเกินกว่าภาษีที่ต้องชำระสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือไม่ ดังนั้นเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีครั้งที่สองเกี่ยวกับรายจ่ายในการซื้อยางพาราของโจทก์อีก เพราะเป็นการตรวจสอบซ้ำในประเด็นเดียวกัน

หนังสือร้องเรียนของกลุ่มผู้ซื้อยางพาราว่าโจทก์ทำใบเสร็จซ้อยางพาราอันเป็นเท็จมีลักษณะเป็นบัตรสนเท่ห์ และที่จำเลยอ้างว่า ส. ผู้ตรวจสอบภาษีของโจทก์ครั้งแรกตรวจสอบไม่ครบทุกประเด็นไม่มีการตรวจสอบการซื้อยางพารา จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนนั้น จำเลยก็ไม่มีหลักฐาน ทั้งปรากฏว่าหลังจาก ส. ตรวจสอบเสนอสรรพากรจังหวัดแล้ว สรรพากรจังหวัดก็อนุมัติให้คืนเงินภาษีแก่โจทก์ตามผลการตรวจสอบ ส. เป็นข้อยืนยันว่าการตรวจสอบของ ส. ถูกต้อง ส่วนที่โจทก์ส่งมอบเอกสารบัญชีไม่ครบถ้วน พยานโจทก์ก็ยืนยันว่าในการตรวจสอบภาษีตั้งแรกโจทก์ยื่นเอกสารและบัญชีให้แก่เจ้าพนักงานประเมินครบถ้วน เมื่อเจ้าพนักงานประเมินขอตรวจสอบเป็นครั้งที่สอง โจทก์ได้ส่งเอกสารทางบัญชีเท่าที่มีอยู่หลังจากได้รับคืนมาในครั้งแรกโดยไม่ได้ตรวจสอบว่าอยู่ครบหรือไม่ จึงไม่มีข้อพิรุธที่จะฟังว่าโจทก์หลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยจัดทำเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จ กรณีจึงไม่มีข้อพิรุธที่จะฟังว่าโจทก์หลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยจัดทำเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จ กรณีจึงไม่มีเหตุผลสมควรที่เจ้าพนักงานประเมินจะทำการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีของโจทก์ในครั้งที่สอง

ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021