เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่5067/2549 
ห้างหุ้นส่วนจำกัดวนาทองพาณิชย์โจทก์

นาย ประสิทธิ์ บัวดวง กับพวกรวม 3 คน

จำเลย
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม การประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 88/4 88/6 (1) (ก) 88/6 วรรคท้าย

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบธุรกิจนำเข้าไม้แปรรูปจากประเทศ มาเลเซีย โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มขอคืนภาษีในเดือนภาษีของปี 2538 รวม 11 เดือนภาษี ยกเว้นเดือนภาษีเมษายน โจทก์แสดงภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อจำนวน 1,857.95 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานกรมสรรพากรให้ไปพบเพื่อตรวจสอบการขอคืนภาษี หลังจากนั้นโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีของปี 2538 โดยอ้างเหตุผล ว่าโจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องคดีต่อศาล ภาษีอากรกลางว่า มิได้แสดงยอดขายต่ำกว่าความเป็นจริง การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายโดยถือตาม ราคาประเมินของเจ้าพนักงานศุลกากรไม่ชอบด้วยกฎหมาย การออกหมายเรียกตรวจสอบเกินกำหนดเวลาและ ไม่ได้ รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร และขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัย 3 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีมกราคม มีนาคม พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2538 ทุนทรัพย์พิพาทไม่ถึง 50,000 บาท โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการ รับฟัง พยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย

ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีกุมภาพันธ์ พฤศจิกายน และธันวาคม 2538 พยานหลักฐานฟังได้ ว่า การที่โจทก์ขายไม้แปรรูปต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันควร เจ้าพนักงานฯ ประเมินราคาขายสินค้าไม้แปรรูปของโจทก์โดยถือราคาประเมินของกรมศุลกากรบวกด้วยอากรขาเข้าและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์มาชอบด้วยมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

ประเด็นที่สอง การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดี กรมสรรพากรต้องขออนุมัติก่อนครบกำหนด 2 ปี หรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า การออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมวลรัษฎากรได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 88/4 ซึ่งอยู่ในหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนที่ 12 ว่าด้วยอำนาจเจ้าพนักงานประเมินแล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19 ที่ได้บัญญัติยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในลักษณะนี้... เมื่อมาตรา 88/4 บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งแตกต่างจากมาตรา 19 การที่มาตรา 88/4 มิได้กำหนดเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกภายในระยะเวลา 2 ปี ดังเช่นมาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ภายในระยะเวลาตาม มาตรา 88/6(1) (ก) คือ 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี และ ในกรณีมี เหตุอันควรเชื่อว่าผู้ประกอบการแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติ อธิบดีประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) ซึ่งตามมาตรา 88/6 วรรค ท้าย แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้เพียงว่าให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายใน กำหนดเวลา 5 ปี นับแต่กำหนดเวลาตาม (1)(ก) เท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่าต้องขออนุมัติภายในกำหนดเวลา 2 ปี เจ้าพนักงานประเมินย่อมขออนุมัติอธิบดีประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลา 5 ปี แม้ขณะขออนุมัติจะเกิน 2 ปี การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย จึงชอบแล้ว

ประเด็นที่สาม สมควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ลงอีกหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์ตามข้อเท็จจริงข้างต้น การที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเบี้ย ปรับเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย เป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ไม่มีเหตุลดให้อีกที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021