เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป. 72/2540
เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเนื่องจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา

---------------------------------------------

 

            ตามที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศเรื่องปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยน เงินตรา ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 อาจมีผลกระทบต่อการคำนวณกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

            ฉะนั้น อธิบดีกรมสรรพากรจึงมีคำสั่งวางทางปฏิบัติในการคำนวณรายได้และ รายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เนื่องจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงิน ตราโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 65 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2527 ไว้ ดังต่อไปนี้

            ข้อ 1 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีทรัพย์สินหรือหนี้สินที่มีค่าหรือ ราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือ หลังวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวต้องคำนวณค่า หรือราคาเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ผล ของการคำนวณถ้ามีผลกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินหรือหนี้สินดังกล่าว ให้นำมา รวมคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่าย แล้วแต่กรณี ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวได้ทั้งจำนวน หรือ

            ข้อ 2 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะนำผลกำไรหรือขาดทุน จากการตีราคาทรัพย์สินหรือหนี้สินดังกล่าวในข้อ 1 เฉพาะผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นใน รอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงในหรือหลังวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรอบระยะ เวลาบัญชีแรกที่มีการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 มารวมคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่ายในแต่ละรอบ ระยะเวลาบัญชี ดังต่อไปนี้ก็ได้ คือ
                  (1) คำนวณตามส่วนแห่งมูลค่าทรัพย์สินหรือหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระใน แต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกดังกล่าวเป็นต้นไป หรือ
                  (2) คำนวณตามส่วนเฉลี่ยของระยะเวลาการชำระหนี้ นับแต่รอบระยะ เวลาบัญชีแรกดังกล่าวถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องชำระหนี้ครั้งสุดท้าย

            ข้อ 3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะเลือกคำนวณกำไรหรือขาดทุนจาก การตีราคาทรัพย์สินหรือหนี้สินตามส่วนเฉลี่ยของมูลค่าทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้นตั้งแต่รอบระยะ เวลาบัญชีแรกดังกล่าวเป็นต้นไป แต่ไม่เกินห้ารอบระยะเวลาบัญชีก็ได้

            ข้อ 4 เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดได้เลือกปฏิบัติตามข้อ 1 ข้อ 2 หรือข้อ 3 แล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องปฏิบัติอย่างเดียวกันทั้งในด้านรายได้ และรายจ่ายและทั้งในบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเอง รวมตลอดทั้งในบัญชีเพื่อ ประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

 

 

สั่ง ณ วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540

 

สมใจนึก เองตระกูล
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 02-01-2024