เมนูปิด

ประกาศกรมสรรพากร

เรื่อง      ภาษีเงินได้ และภาษีการค้า สำหรับสำนักงานผู้แทน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ที่กระทำกิจการในประเทศไทย

 

---------------------------------------------

 

                ด้วยสำนักงานผู้แทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ที่เข้ามากระทำกิจการในประเทศไทยบางรายยังไม่ทราบเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้และภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงขอชี้แจงเกี่ยวกับภาระและหน้าที่ในการเสียภาษีอากรของสำนักงานผู้แทนดังกล่าว ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  การประกอบกิจการจัดซื้อสินค้าและส่งออกไปต่างประเทศให้แก่หรือตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่ของสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทย ให้ถือว่าการส่งสินค้าออกไปนั้นเป็นการขายในประเทศไทยและให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งออกไปเป็นรายได้ที่จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งออกไปนั้นเว้นแต่กรณีตามข้อ 2 ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

 

                “ข้อ 2  การประกอบกิจการจัดซื้อสินค้าและส่งออกไปต่างประเทศให้แก่สำนักงานใหญ่ของสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทย ถ้าสำนักงานใหญ่ของสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทยมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ กับประเทศไทยก็ไม่ถือว่าสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทยเป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศในประเทศไทย สำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทยจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ทั้งนี้โดยนัยความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ”

(แก้โดยประกาศลงวันที่ 24 ตุลาคม 2531)

 

                ข้อ 3  การที่สำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทย ให้บริการต่าง ๆ แก่สำนักงานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบควบคุมคุณภาพและปริมาณของสินค้าที่สำนักงานใหญ่สั่งซื้อหรือจ้างผลิตในประเทศไทย การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการใหม่ของสำนักงานใหญ่รวมทั้งการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจในประเทศไทยให้แก่สำนักงานใหญ่ โดยมิได้ให้บริการแก่ผู้อื่นเลย และสำนักงานผู้แทนดังกล่าวได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักงานใหญ่เฉพาะเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทยเท่านั้น รายรับหรือเงินได้ที่สำนักงานผู้แทนดังกล่าวที่กระทำกิจการในประเทศไทยได้รับจากสำนักงานใหญ่ไม่ถือเป็นรายได้ที่จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือรายรับที่ต้องเสียภาษีการค้าแต่ประการใด

 

                ข้อ 4  ถ้าสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทยตามข้อ 3 ได้ให้บริการแก่ผู้อื่น ไม่ว่าการให้บริการนั้นจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ถือว่าสำนักงานผู้แทนดังกล่าวประกอบกิจการในประเทศไทย และมีหน้าที่ต้องนำรายได้หรือรายรับที่ได้รับจากการให้บริการทุกประเภทมารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 5  การประกอบกิจการของสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทยตามข้อ 4 จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนการค้า ณ อำเภอท้องที่หรือสำนักงานสรรพากร ที่สำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทยมีสถานการค้าตั้งอยู่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการตามข้อ 4 หากไม่จดทะเบียนการค้าภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องเสียภาษีการค้าและเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของเงินค่าภาษีการค้าตลอดระยะเวลาที่ไม่จดทะเบียนการค้าหรือ 200 บาทต่อเดือนแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ทั้งจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระ และอาจจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาอีกส่วนหนึ่งด้วย

 

                ข้อ 6  การประกอบกิจการตามข้อ 1 และข้อ 2 ของสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทย หากสินค้าที่ส่งออกอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีการค้า สำนักงานผู้แทนดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า 1. การขายของแห่งบัญชีอัตราภาษีการค้ากับจะต้องเสียภาษีส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีการค้าที่ต้องชำระด้วย

 

                ข้อ 7  คนต่างด้าวที่ทำงานในสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทย โดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ว่าเงินนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศไทย คนต่างด้าวผู้นั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ตามระยะเวลาที่ทำงานในประเทศไทย และสำนักงานผู้แทนที่กระทำกิจการในประเทศไทยผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินได้ ตามนัยมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

                จึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกัน

 

ประกาศ ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2529

 

วิโรจน์ เลาหะพันธุ์

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022