เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่6053/2549 
กรมสรรพากร โจทก์

บริษัท ธนโชคอนันต์ จำกัด กับพวก

จำเลย
เรื่อง การฉ้อฉล
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

โจทก์ แจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2542 จำเลยที่ 1ยังมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2541 ถึง ธันวาคม 2541 อยู่อีก จำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษีอากรค้างให้ครบถ้วนตามกำหนด เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้เร่งรัดเอาชำระหนี้แล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินพอเพียงที่จะยึดอายัดมาชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างจากธนาคารออมสิน สาขาสวี และมีสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างจากวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ แม้จำเลยที่ 1 จะทำสัญญารับจ้างก่อสร้างธนาคารออมสิน สาขาสวี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 แล้วโอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างตามสัญญากับธนาคารออมสิน สาขาสวี ให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากวันทำสัญญารับจ้างเพียงวันเดียว นายคมวิทย์ บุญธำรงกิจ กรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างประสงค์จะเข้ารับงานก่อสร้างอาคารธนาคารออมสิน สาขาสวี แต่ยังไม่เคยมีผลงาน จึงตกลงกับนาย ธวัชชัย ธนาโรจน์ กรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญารับงานก่อสร้างรายนี้ในนามของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายคมวิทย์ ฯ เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาจ้างแทนและทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินจากธนาคารออมสินให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง การที่ จำเลยที่ 2 ทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาว่าจ้างก่อสร้างกับธนาคารออมสินจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต เพราะเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างย่อมควรได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างดังเช่นการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป นอกจากนี้โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ได้ล่วงรู้ถึงกรณีที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างโจทก์ อันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและไม่ได้นำสืบแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ช่วยจำเลยที่ 1 หลบเลี่ยงการชำระหนี้ค่าภาษีอากรแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์

กรณีที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ให้แก่จำเลยที่ 3 นั้น นายพรชัย สุทธิรักษ์ กรรมการจำเลยที่ 3 เบิกความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาก่อสร้างอาคารวิทยาลัยเทคนิคกระบี่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าทำการก่อสร้าง พยานจึงตกลงกับ นายธวัชชัยฯ กรรมการของ จำเลยที่ 1 โดยจ่ายเงินให้นายธวัชชัยฯ จำนวน 700,00.-บาท แล้ว นายธวัชชัยฯ ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินจากวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ให้จำเลยที่ 3 และโอนหน้าที่ก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 เข้าก่อสร้างอาคารวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ค่าตอบแทนส่วนที่เหลือพยานจ่ายให้นายธวัชชัยฯ เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 500,00.-บาท โดยนายถาวร คงชนะ อาจารย์ประจำของวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานเบิกความสนับสนุนว่าการก่อสร้างได้ดำเนินการไปล่าช้าเพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลงานได้แล้วไม่มีทุนในการเข้าดำเนินการก่อสร้างต่อมาจำเลยที่ 1 โอนสิทธิการรับเงินให้แก่จำเลยที่ 3 โดยได้รับความเห็นชอบจากวิทยาลัยเทคนิคกระบี่แล้ว โดยระบุว่าจำเลยที่ 3 ต้องทำงานตามเงื่อนไขในสัญญาให้ถูกต้องจำเลยที่ 3 ได้เข้าดำเนินการก่อสร้างโดยเป็นผู้จัดหาวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและเป็นผู้ดำเนินการขอเบิกเงินจากวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ การที่จำเลยที่ 3 รับโอนสิทธิในการรับเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างอาคารของวิทยาลัยเทคนิคกระบี่จากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตตามปกติของการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป ประกอบกับทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า ขณะที่รับโอนสิทธิการรับเงินจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 3 ได้ล่วงรู้ถึงกรณีที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างต่อโจทก์อันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 รับโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยที่ 1 หลบเลี่ยงการชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างการกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์

พิพากษายกฟ้องโจทก์

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021