เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 89/2542

เรื่อง  การขายสินค้านอกราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน

 

---------------------------------------------

 

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้านอกราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการจดทะเบียน กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยได้สั่งซื้อสินค้าที่ขายจากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าที่อยู่นอกราชอาณาจักร และให้ผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าที่อยู่นอกราชอาณาจักรส่งมอบสินค้าที่ขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยตรง โดยไม่ได้นำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร และไม่ได้ส่งสินค้านั้นออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด การขายสินค้าดังกล่าวถือเป็นการกระทำนอกราชอาณาจักร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

                ตัวอย่าง บริษัท A. ตั้งอยู่ในประเทศเวียดนาม ได้สั่งซื้อสินค้าจาก บริษัท ก. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศไทย เนื่องจากบริษัท ก. ไม่มีสินค้าบริษัท ก. จึงสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท B. ซึ่งเป็นผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าในประเทศญี่ปุ่น โดยสั่งให้บริษัท B. ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท A. โดยตรง บริษัท ก. ไม่ได้กระทำพิธีการศุลกากรนำเข้าสินค้าและส่งออกสินค้าไปให้บริษัท A. ดังนั้น บริษัท ก. จึงไม่ต้องนำมูลค่าของการขายสินค้านอกราชอาณาจักรให้แก่บริษัท A. มารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

                ข้อ 2  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยได้สั่งซื้อสินค้าที่ขายจากผู้ขายซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในราชอาณาจักร ด้วยกัน และผู้ขายในราชอาณาจักรได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าที่อยู่นอกราชอาณาจักรอีกทอดหนึ่ง และให้ผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าที่อยู่นอกราชอาณาจักรส่งมอบสินค้าที่ขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่นอกราชอาณาจักรโดยตรง โดยไม่ได้นำสินค้าดังกล่าวเข้ามา ในราชอาณาจักร และไม่ได้ส่งสินค้านั้นออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด การขายสินค้า ระหว่าง ผู้ประกอบการจดทะเบียนกับผู้ซื้อที่อยู่นอกราชอาณาจักร ถือเป็นการกระทำนอกราชอาณาจักร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีผู้ขายซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในราชอาณาจักรขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่นอกราชอาณาจักรอีกทอดหนึ่ง โดยไม่มีการนำสินค้าที่ขายเข้ามาในราชอาณาจักร และไม่ได้ส่งมอบสินค้าในราชอาณาจักร ตามวรรคหนึ่ง ถือเป็นการกระทำนอกราชอาณาจักร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง บริษัท A. ตั้งอยู่ในประเทศเวียดนาม ได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ก. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศไทย และบริษัท ก. ได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ข. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากบริษัท ข. ไม่มีสินค้าดังกล่าว จึงได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท B. ซึ่งเป็นผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าในประเทศญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่ง โดยสั่งให้บริษัท B. ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท A. โดยตรง บริษัท ข. ไม่ได้กระทำพิธีการศุลกากรนำเข้าสินค้าเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัท ก. และบริษัท ก.ไม่ได้กระทำพิธีการศุลกากรส่งออกสินค้าไปให้บริษัท A. ดังนั้น บริษัท ก.จึงไม่ต้องนำ มูลค่าของการขายสินค้านอกราชอาณาจักรให้แก่บริษัท A. มารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัท ข. ก็ไม่ต้องนำมูลค่าของการขายสินค้านอกราชอาณาจักรให้แก่บริษัท ก.มารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

                ข้อ 3  ภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 และ ข้อ 2 ได้เสียไปเนื่องจากการประกอบกิจการขายสินค้านอกราชอาณาจักร ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ประกอบกิจการขายสินค้าในราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 4  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

 

สั่ง ณ วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2542

 

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022