เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่403/2550 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด โฟร์วี โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีอากร (ชั้นไม่รับคำคู่ความ)
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ( 2 ) มาตรา 34

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 มาตรา 8

เจ้าพนักงานประเมินได้ยกเลิกการประเมินครั้งก่อนเนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินมิได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย การประเมินใหม่ก็เป็นการประเมินในเรื่องเดิมว่า ผู้ประกอบการใช้ใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงทำการตรวจเฉพาะยอดซื้อและภาษีซื้อ ทั้งเมื่อรวมจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระเพิ่มเติมตามการประเมินครั้งแรกและครั้งหลังเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่า ยอดเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินใหม่ในครั้งหลังน้อยกว่าเดิม การประเมินใหม่จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหายแต่อย่างใด เมื่อมีการยกเลิกการประเมินในครั้งแรกแล้ว จึงไม่มีกรณีที่คณะกรรมการต้องดำเนินการต่อไป การที่คณะกรรมการไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว

นอกจากนี้ตามมาตรา 34 แห่งประมวลรัษฎากร ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ว่าจะต้องแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังผู้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาเท่าใด แม้การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชุดที่ 1 รับอุทธรณ์ครั้งแรกของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2543 แล้วใช้เวลาพิจารณาล่าช้าเกินสมควร จนกระทั่งโจทก์ได้รับแจ้งยกเลิกการประเมินครั้งแรกในวันที่ 10 กันยายน 2545 และต่อมา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชุดที่ 1 มีคำสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ครั้งแรกของโจทก์หลังจากมีการแจ้งยกเลิกการประเมินครั้งแรกตามที่จำเลยแก้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์ชุดที่ 1 ก็ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า “ การใดที่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น สำหรับกระบวนการพิจารณาให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ หมวด 2 นี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายดังกล่าว ” ดังนั้นกรณีตามคำฟ้องหรือคำขอท้ายฟ้องจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์

กรณีโจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ชุดที่ 2 นั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ชุดที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 การที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2548 ซึ่ง ล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ชุดที่ 2 จึงเป็นการที่โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน กำหนดเวลาตามมาตรา 30 ( 2 ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 7 มาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับจำเลย โจทก์จึงไม่อำนาจฟ้อง

การพิจารณาว่าคดีใดเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ นั้น จะดูจากคำขอแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ คำบรรยายฟ้องของโจทก์และในอุทธรณ์ของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงสภาพแห่งข้อหาและประสงค์จะให้ศาลบังคับให้จำเลยดำเนินการให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชุดที่ 1 ได้พิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จและส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาและให้ยกเลิกหนังสือแจ้งการยกเลิกใบแจ้งภาษีอากรซึ่งออกโดยสรรพากรภาค 7 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี เท่านั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางมีความเห็นว่าคดีของโจทก์เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำนวน 200 บาท จึงชอบแล้ว

การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้โจทก์จำนวน 50,502.50 บาท แต่ไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอื่น เป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 167 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ที่กำหนดให้ศาลต้องสั่งเรื่อง ความรับผิดสำหรับ ค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความเมื่อศาลพิพากษาหรือชี้ขาดคดี จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชนตามมาตรา 142 ( 5 ) มาตรา 246 ประกอบด้วย มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 พิพากษายืน

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021