เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่241/2550 
บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ดอกเบี้ยคืนเงินภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 3 เตรส , 4 ทศ , 20, 27 ตรี,28, 29, 30, 63

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (1) (3), 8, 9

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224, 329 กฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากร

แม้คดีก่อนคือคดีหมายเลขแดงที่ 90/2541 ของศาลภาษีอากรกลางกับคดีนี้จะเป็นคดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 เหมือนกันและคู่ความเป็นคู่ความเดียวกัน แต่คดีหมายเลขแดงที่ 90/2541 เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(1) ซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 20 และ 28 ถึง 30 แห่งประมวลรัษฎากร เสียก่อน คือโจทก์ต้องอุทธรณ์คัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว จึงจะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 8 และคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องหรือไม่ ส่วนคดีนี้คำฟ้องโจทก์อ้างว่า ผลแห่งคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 90/2541 ทำให้โจทก์มีสิทธิได้เงินดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยแล้วในคดีหมายเลขแดงที่ 45/2538 คืนจากจำเลย จึงขอบังคับจำเลยให้คืนเงินจำนวนนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 90/2541 ทำให้สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 45/2538 เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่พิพาทกันมาในคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 90/2541สำหรับคำฟ้องโจทก์ในคดีนี้ส่วนที่ขอบังคับจำเลยให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินภาษีอากร พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยนั้นเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการขอคืนเงินภาษีอากรอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 7 (3) ซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 3 เตรส ประกอบมาตรา 63 และมาตรา 27 ตรี โดยโจทก์ต้องยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่อธิบดีกำหนดจึงจะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 9 ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องส่วนนี้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อย 1 ต่อเดือนของเงินภาษีหรือไม่ กับมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของดอกเบี้ยนั้นหรือไม่ อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับที่โจทก์ได้ฟ้องมาในคดีหมายเลขแดงที่ 90/2541 หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ปฏิบัติก็แตกต่างกัน สิทธิในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรก็แตกต่างกัน แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 90/2541 ขอบังคับจำเลยคืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์ ก็ไม่ทำให้คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 90/2541

มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ ให้อธิบดีหรือผู้ซื้ออธิบดีมอบหมายสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรในอัตราร้อยละ 1 เดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง …” และกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากร มีความว่า

“ ข้อ 1 ดอกเบี้ยที่จะให้แก่ผู้ที่ได้รับเงินคืนภาษีอากรให้คิดดังต่อไปนี้ …

ข้อ 2 การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 1 จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้.. ” เมื่อภาษีรายพิพาทเป็นภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 โดยโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2532 ซึ่งไม่เกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด โดยโจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และนำคดีฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนยื่นคำต้องขอคืนภาษีต่อจำเลยภายในสามปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด อันเป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 45/2538 ที่ให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 50,677,905.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยด้วยเหตุว่ามีข้อตกลงตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า โจทก์ขอรับคืนเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยก่อนหากเจ้าพนักงานจำเลยตรวจสอบแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินจำนวนดังกล่าว โจทก์ยินยอมคืนเงินนั้นให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่คืนเงินนั้นแก่จำเลยตามสัญญากรณีเป็นการบังคับตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนี้ แม้ต่อมาศาลจะมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 90/2541 ให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อันมีผลให้จำเลยต้องคืนเงินภาษีอากรเพียงจำนวน 33,861,241.98 บาท ก็เป็นข้อพิพาทคนละส่วนกัน เพราะภาษีอากรที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์นั้น มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรได้ บัญญัติให้โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย อันเป็นทางเยียวยาความเสียหายของโจทก์ที่อาจมีจากการได้รับคืนเงินภาษีอากรล่าช้าอยู่แล้ว โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยรับเงินดังกล่าวจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิ และไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

ที่โจทก์ขอให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยที่คำนวณในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนจำนวน 33,861,241.98 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 90/2541 นั้นขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อน ดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ” โดยชัดแจ้ง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 บัญญัติว่า “ ถ้านอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธาน ลูกหนี้ยังจะต้องจ่ายดอกเบี้ยและเสียค่าฤชาธรรมเนียมอีกด้วยไซร้ หากการชำระหนี้ในเครื่องหนึ่ง ๆ ไม่ได้ราคาเพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด ท่านให้เอาจัดใช้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมเสียก่อนแล้วจึงใช้ดอกเบี้ย และในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน

ถ้าลูกหนี้ระบุให้จัดใช้เป็นประการอื่น ท่านว่าเจ้าหนี้จะบอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ได้ ” บทกฎหมายนี้มีความชัดเจนตามตัวอักษรโดยไม่ต้องมีการอธิบายขยายความอย่างใดๆ เมื่อโจทก์ยอมรับการชำระหนี้จำนวน 33,861,241.98 บาท ของจำเลยว่าเป็นการชำระต้นเงินโดยไม่บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ของจำเลยตามสิทธิของโจทก์ โจทก์ก็คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่จำเลยยังไม่ได้ชำระเท่านั้น หาทำให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวกลายเป็นต้นเงินและทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกดอกเบี้ยจากเงินดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นไม่

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021